Environmental Sustainability

เรียนรู้ ‘การรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล’ เพื่อรักษา ‘ระบบนิเวศ-วิถีชีวิตชุมชน’

การผลิตปิโตรเลียม เป็นกิจการที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และเทคนิคขั้นสูง ดังนั้นกว่าจะได้มาซึ่งก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันสักหยดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และความยากนั้นต่อเนื่องมาถึง “การรื้อถอนสิ่งติดตั้ง” โดยเฉพาะในทะเล เมื่อหลุมผลิตปิโตรเลียมนั้นๆ หมดศักยภาพ ไม่มีความคุ้มค่า ในเชิงพาณิชย์ หรือ พื้นที่ที่ได้รับสัญญา หรือสัมปทานหมดระยะเวลากับทางภาครัฐแล้ว

ผู้ประกอบการปิโตรเลียม จะต้องรื้อถอนสิ่งติดตั้งอื่นๆ ในกิจการปิโตรเลียมออกจากพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป

การรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล มีกระบวนการ และขั้นตอนมากมาย ต้องใช้ทั้งความรู้ความชำนาญ รวมถึงต้องใช้อุปกรณ์ และเทคโนโลยีเฉพาะ เพื่อให้การรื้อถอนราบรื่นที่สุด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดำเนินการใน 3 ส่วนสำคัญ นั่นก็คือ

  • การปิดและสละหลุมถาวร (Plug and Abandonment)
  • การรื้อถอนโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม
  • การรื้อถอนท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล

Petroleum P01 011

ส่วนแรก การปิด และสละหลุมถาวร (Plug and Abandonment) จะใช้วิธีการอัดซีเมนต์ลงไปในท่อกรุ ที่ขุดลึกลงไป จนถึงชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียม (น้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติ) เพื่อปิดหลุมผลิตอย่างถาวร ซึ่งเมื่อซีเมนต์แข็งตัวแล้ว จะต้องทำการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปิโตรเลียมรั่วไหลออกมาได้อีก

ส่วนที่สอง การรื้อถอนโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล หรือ โครงสร้างส่วนบน (Topside) และโครงสร้างใต้ระดับน้ำทะเล หรือโครงสร้างส่วนของขาแท่น (Jacket) ซึ่งในกระบวนการรื้อถอนโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมในทะเล จะเริ่มทำโครงสร้างส่วนบน หรือ Topside ก่อน โดยการรื้อถอนนั้น สามารถแยกออกมาเป็นชิ้น ๆ ได้ หรือจะตัด และยกแท่นผลิตทั้งแท่นออก

เมื่อส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลถูกรื้อถอนไปแล้ว จึงจะดำเนินการรื้อถอนในส่วนของโครงสร้างส่วนของขาแท่น หรือ Jacket ต่อไป จากนั้นจะนำ โครงสร้างที่รื้อถอนแล้ว ขึ้นบนฝั่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการ อาทิเช่น ทำความสะอาด เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ส่งไปยังโรงงานหลอมเหล็ก (Smelter) นำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม หรือการนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ

ในบางกรณีนั้นจะมีการปล่อยโครงสร้างใต้ระดับน้ำทะเลบางอย่างไว้ เช่น โครงสร้างฐานรองรับแท่น เพราะกลายเป็นบ้านของเจ้าสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ และปะการังไปเสียแล้ว หากรื้อถอนออกมา อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณนั้น

ส่วนการรื้อถอนท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล จะต้องทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อน ที่ตกค้างบริเวณภายในท่อเสียก่อน เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนรั่วไหลลงสู่ทะเล จากนั้นจะปลดข้อต่อ ที่เชื่อมต่อระหว่างท่อกับโครงสร้างต่าง ๆ และจัดการรื้อถอน

วิธีการรื้อถอนมี 2 รูปแบบ รื้อออกทั้งหมด ซึ่งในวิธีนี้จะมีทางเลือกย่อยออกไปอีก 2 ทาง เป็นการรื้อถอนด้วยวิธีย้อนกลับการติดตั้ง และ การรื้อถอนด้วยวิธีตัดเป็นชิ้น และยกสู่ผิวน้ำ

Petroleum P02 011

ทางด้านการรื้อถอนด้วยวิธีย้อนกลับการติดตั้ง จะทำการยกปลายท่อขึ้นมาบนเรือปฏิบัติงาน และดึงท่อขึ้นมาบนเรือ พร้อมกับการเคลื่อนที่ของเรือ ในลักษณะย้อนกลับการติดตั้งท่อขนส่งใต้ทะเล จากนั้นตัดท่อบนเรือ ตามความยาวที่กำหนด และนำท่อที่ตัดออกเป็นส่วน ๆ เก็บรวบรวม และยึดตรึงไว้ที่เรือบรรทุก รอการขนส่งไ ปยังสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอนต่อไป

ส่วนการรื้อถอนด้วยวิธีตัดเป็นชิ้น และยกสู่ผิวน้ำ จะใช้วิธีตัดท่อขนส่งใต้ทะเลออกเป็นส่วน ๆ ตามขนาดความยาวที่กำหนด โดยตัดที่พื้นทะเล แล้วยกท่อที่ตัดแล้วขึ้นมาและยึดตรึงไว้บนเรือบรรทุก เพื่อรอขนส่งไปยังสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอนต่อไป

รูปแบบปล่อยท่อขนส่งใต้ทะเลไว้ในพื้นที่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทำได้โดยล้างทำความสะอาดท่อขนส่งใต้ทะเลเรียบร้อยแล้ว จะปลดข้อต่อระหว่างท่อขนส่งใต้ทะเลกับโครงสร้างต่าง ๆ ออกจากกัน เติมน้ำทะเล และสารป้องกันการเกิดสนิม รวมถึงป้องกันการกัดกร่อนเข้าไปในท่อ จากนั้นจะทำการปิดปลายท่อทั้ง 2 ด้าน และฝังกลบบริเวณส่วนหัว และท้ายของท่อด้วยวัสดุกลบทับทั้ง 2 ด้าน

จากเทคนิควิธีการดังกล่าว จะเห็นได้ว่า “การรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเล” ต้องใช้ความองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยไปกว่าการสำรวจและพัฒนาหลุมผลิตปิโตรเลียมในทะเล ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชน ว่าการถอนโครงสร้างออกไปนั้น จะไม่กระทบกับระบบนิเวศ และวิถีชีวิตชาวบ้านท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียง

Avatar photo