Environmental Sustainability

กรมลดโลกร้อน เปิดรับฟังความคิด ‘NDC 3.0’ ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 109.2 ล้านตัน ในปี 2578

กรมลดโลกร้อน เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “NDC 3.0” ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 109.2 ล้านตัน ภายในปี 2578

วันที่ 27 มีนาคม 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา เป้าหมาย แนวทาง และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้ NDC 3.0 พร้อมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ฉบับที่ 2 หรือ “NDC 3.0”

ลดก๊าซเรือนกระจก 109.2 ล้านตันในปี 2578

โดยจะยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกประเทศไทยให้ได้ 109.2 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2578 เพื่อรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม หน่วยงานในระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท และผ่านระบบออนไลน์ รวมกว่า 250 คน

NDC 3.0
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยจะเดินหน้ายกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ NDC 3.0 ซึ่งมีกำหนดเสนอต่อสำนักเลขาธิการของ UNFCCC ภายในเดือนกันยายน 2568 ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 30 (COP30) ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568

โดย NDC 3.0 จะเปลี่ยนรูปแบบการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เปรียบเทียบกับกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปกติ ที่ไม่มีการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (Business as Usual: BAU) ไปเป็นการเปรียบเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ณ ปี ค.ศ. 2019 หรือ Absolute Emissions Reduction Target ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy-Wide)

NDC 3.0

พร้อมตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ไม่เกิน 152 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO₂e) ภายในปี ค.ศ. 2035 ซึ่งรวมการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน (LULUCF) ที่คาดว่าจะสามารถดูดกลับได้ ไม่น้อยกว่า 118 MtCO₂e จะทำให้ประเทศไทย ลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการเองในประเทศ (Unconditional Target) ได้ 76.4 MtCO₂e และจากการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ (Conditional Target) อีก 32.8 ล้านตัน MtCO₂e

ซึ่งหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง ร้อยละ 60 จากปีฐาน ค.ศ. 2019 ถือเป็นมุดหมายสำคัญสู่เส้นทางการจำกัดอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

NDC 3.0

มาตรการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก

ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 60 นั้น มาจากการขยายผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการเองได้ในภายในประเทศ และการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศในเทคโนโลยีที่มีการลงทุนสูง

NDC 3.0

ได้แก่ เทคโนโลยีไฮโดรเจนในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม Battery Energy storage System (BESS) เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMR) การผลิตปูนซีเมนต์แบบปล่อยคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีการกำจัดของเสียและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ การปรับปรุงพันธุ์และอาหารสัตว์ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo