รับรอง “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี” จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอุทยานมรดกอาเซียน ลำดับที่ 63 และเป็นลำดับที่ 10 ของไทย
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ กองทัพบก เสนอพื้นที่ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอุทยานมรดกอาเซียน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2567
บางปู ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกอาเซียนลำดับที่ 63
ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เสนอพื้นที่ทางธรรมชาตินอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน โดยรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ได้รับรองศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นอุทยานมรดกอาเซียนลำดับที่ 63 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567
ในการเสนอศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เป็นอุทยานมรดกอาเซียน สผ. ได้เชิญชวนกองทัพบกพิจารณาเสนอพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานมรดกอาเซียน พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน
ระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นแหล่งอาหารและพักพิงของสัตว์
รวมถึงได้ประสานผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค และสนับสนุนการศึกษาดูงานพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียน ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู)ฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ในรูปแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
พื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองและเขตอุตสาหกรรม กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาพื้นที่ดังกล่าว ได้รักษาความเป็นธรรมชาติของระบบนิเวศป่าชายเลนและระบบนิเวศหาดโคลนในพื้นที่ ให้เป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงของสัตว์วัยอ่อน นกน้ำ โดยเฉพาะนกน้ำอพยพในเส้นทางบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย
รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนและสันทนาการของชุมชนเมือง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และจังหวัดใกล้เคียง
ไทยขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนแล้ว 10 แห่ง
ปัจจุบัน ประเทศไทย มีพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนแล้ว 10 แห่ง โดยเป็นพื้นที่ทางบก 5 แห่ง ได้แก่ (1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (2) กลุ่มป่าแก่งกระจาน (3) อุทยานแห่งชาติเขาสก (4) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และ (5) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
และเป็นพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง 5 แห่ง ได้แก่ (1) อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (2) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา-หมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน (3) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม–เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และ (4) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และ (5) ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจัดเป็นอุทยานมรดกอาเซียนลำดับที่ 10 ของประเทศไทย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สผ. และ GIZ ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพของไทยหลัง CBDCOP16
- เกณฑ์สำหรับกำหนด ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
- การสร้างการมีส่วนร่วม-ความตระหนักในพื้นที่ (CEPA) เครื่องมือสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx