“เฉลิมชัย” แสดงศักยภาพประเทศไทย บนเวที COP29 ประกาศแก้วิกฤติสภาพอากาศ มุ่งหวังเป้าหมายทางการเงินใหม่ เพิ่มขีดความสามารถ รับมือโลกเดือด
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปการเข้าร่วมและกล่าวคำแถลง การประชุมระดับสูง ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยระบุว่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่ร้อนจัด น้ำท่วมฉับพลัน ฝนตกหนัก ดินถล่ม สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก
ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มความสามารถ บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง ดังนี้
1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากทุกภาคส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบ NDC 2030 ให้ได้ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงานใน 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน คมนาคม การจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการเกษตร
2. วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2035 จากปีฐาน 2019 มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกจากค่าการปล่อยจริง ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการลงทุนสีเขียว รวมถึงเร่งเพิ่มการดูดกลับของภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2037
3. เข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage fund) ที่มีความชัดเจนในด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และแนวทางการขอรับการสนับสนุน ให้กับประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติ ให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการเร่งฟื้นฟูและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง
5. เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผ่านการจัดการประชุม Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024 และเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างการดำเนินงานอย่างสมดุล ทั้งด้านกลไกราคาคาร์บอน และกองทุนการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ข้อตัดสินใจในการระดมเงินตามเป้าหมายทางการเงินใหม่ รวมถึงจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แนวทางและข้อกำหนดในการเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบาง มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว และเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนมีศักยภาพในการเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม
เชื่อว่าห้วงเวลาสำคัญนี้ เป็นการกำหนดทิศทางดำเนินงานสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของความตกลงปารีสได้อย่างแข็งแกร่ง และขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ ที่จะร่วมกันรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เฉลิมชัย’ เปิดเวที ‘TCAC 2024’ ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- พันธกรณีที่สำคัญของ ‘อนุสัญญาแรมซาร์’ และข้อดีของการเข้าร่วมเป็นภาคี
- ทส. เตรียมพร้อมเข้าร่วมการประชุม สมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx