Environmental Sustainability

‘Waste No More สานต่อความยั่งยืน’ ธุรกิจสุกร CPF ฟื้นคืนของเสียสู่ของดีอย่างมีประสิทธิภาพ

“Waste No More สานต่อความยั่งยืน” ธุรกิจสุกร CPF คิดสร้างสรรค์ … ฟื้นคืนของเสียสู่ของดีอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารจัดการทรัพยากร ด้วยการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดของเสียในกระบวนการผลิต ตามหลัก Circular Economy เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนนำไปปรับใช้ในองค์กรของตนเอง

ธุรกิจสุกร CPF

ธุรกิจสุกร CPF Waste No More สานต่อความยั่งยืน

CPF เป็นหนึ่งในองค์กรที่มุ่งพัฒนากระบวนการบริหารจัดการของเสียและน้ำเสียที่เกิดจากมูลสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงงานผลิตอาหารสุกร จนถึงโรงงานชำแหละตัดแต่งและแปรรูปสุกร

บุคลากรของธุรกิจสุกร CPF ในประเทศไทย ร่วมกันสร้างสรรค์โครงการ “Waste No More สานต่อความยั่งยืน” เพื่อสานต่อการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ทั้งธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และสร้างคุณค่าร่วมกับชุมชนรอบด้าน

4 ดี ประโยชน์ของของเสีย

จากความคิดริเริ่มที่บุคลากรทุกคนมองเห็นประโยชน์ของของเสีย แล้วสรรหานวัตกรรมและเทคโนลียีมาปรับเปลี่ยนให้เป็นของดีอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

โดยนำของเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดและกระบวนการเผาไหม้กลับมาใช้ นับเป็นการหาแนวทางเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นของดี (Weste to Value) เกิดเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ ทั้ง 4 ดี คือ “เถ้าดี น้ำปุ๋ยดี แก๊สดี กากตะกอนดี”

“เถ้าดี Feed สู่ Farm” เป็นการเปลี่ยนขี้เถ้าจากเตาเผาชีวมวลในกระบวนการที่ใช้ไอน้ำของโรงงานผลิตอาหารสุกร สู่ขี้เถ้าสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียแทนการใช้ปูนขาวในฟาร์มสุกรของเกษตรกรโครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยบริษัททำการทดลองและเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์ผลกับห้องปฏิบัติการ AHDC และทำการทดลองร่วมกับ สำนักงานกรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี กระทั่งได้รับใบอนุญาตให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นเถ้าดีที่ใช้ในฟาร์มต่างๆ ช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปูนขาวได้ถึงกว่า 3 แสนบาทต่อฟาร์ม/ปี

วิชัย ธนูแก้ว เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งเลี้ยงสุกร มานานกว่า 20 ปี เล่าว่า เมื่อก่อนใช้ปูนขาวโรยบริเวณหน้าฟาร์ม เวลาใช้มักมีอาการแสบตาแสบมือ เมื่อมีฝนตกก็จะชะล้างปูนขาวหายไปหมด หลังจากใช้เถ้าดีเวลาฝนตกลงมาค่า pH อยู่ประมาณ pH10 ยังคงความเป็นด่างอยู่ จึงมั่นใจในคุณภาพของเถ้าดีที่สามารถป้องกันโรคได้

S 36519996

“น้ำปุ๋ยดี สู่เกษตรกร” จากน้ำบำบัดสู่น้ำปุ๋ยที่สร้างมูลค่าทำให้พืชผลของเกษตรกรออกผลผลิตงดงาม เพราะน้ำปุ๋ยจากฟาร์มช่วยพยุงเมื่อยามน้ำขาดแคลน ลดภาระช่วยทดแทนปุ๋ยเคมี น้ำปุ๋ยนี้ได้จากการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบไบโอแก๊ส ได้แก๊สมีเทน แปลงเป็นกระแสไฟฟ้า ทดแทนการซื้อไฟจากการไฟฟ้า เฉลี่ย 50- 70% สามารถบริหารจัดการน้ำนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในหน่วยงานทั้งหมดโดยไม่ปล่อยสู่ภายนอก (Zero Discharge) ทั้งทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์ ล้างพื้นและถนน เป็นน้ำพ่นระบบฟอกอากาศหลังโรงเรือน ใช้รดน้ำในพื้นที่สีเขียวและพื้นที่การเกษตรของหน่วยงาน อาทิ ผักสวนครัว สวนยาง สวนปาล์ม และสวนป่า

ขณะเดียวกัน ในช่วงแล้งเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและได้ขอนำน้ำปุ๋ยไปใช้ CPF จึงต่อยอดสู่ “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรและชุมชน” สำหรับรดพืชสวน พืชไร่ ช่วยเกษตรกรผ่านพ้นวิกฤติแล้ง เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่าย ทั้งลดการซื้อน้ำ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และต่อยอดสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้ปราชญ์น้ำปุ๋ยที่เชี่ยวชาญการผสมน้ำกับพันธุ์พืชแต่ละชนิด

ธุรกิจสุกร CPF

“แก๊สดี สู่ชุมชน” ฟาร์มสุกรโครงการคอนแทรคฟาร์มเลี้ยงสุกรขุน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำระบบไบโอแก๊ส ด้วยบ่อหมักแบบโดมคงที่ (Fixed dome) สามารถนำแก๊สที่ได้ต่อท่อลำเลียงแก๊สให้ชุมชน ในตำบลบ้านด้าย มากกว่า 30 ครัวเรือน การต่อท่อได้งบสนับสนุนครึ่งหนึ่งจากภาครัฐโดย อบต.บ้านด้าย ช่วยลดค่าใช้จ่ายแก๊สหุงต้มแก่ 30 ครัวเรือน ประมาณ 15 ถัง/เดือน วิสาหกิจชุมชนลดได้ 5 ถัง/เดือน แม่ค้าตลาด 4 ถัง/เดือน และโรงเรียนบ้านด้ายต่อยอดความสำเร็จสามารถผลิตแก๊สเองได้แล้ว

จำเริญ สุวรรณศร สมาชิกผู้ใช้แก๊สดีบ้านดงป่าสัก กล่าวว่า แก๊สที่ได้จากการหมักมูลสุกรถูกดึงเข้าสู่ท่อแก๊สหุงต้ม ช่วยลดรายจ่ายครัวเรือน จากเดิมใช้แก๊สหนึ่งถังได้ 1-2 เดือน เมื่อใช้แก๊สถังร่วมกับแก๊สชีวภาพ ถังหนึ่งอยู่ได้ถึง 4-5 เดือน
นอกจากนี้ บริษัทยังต่อยอดขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ฝึกอาชีพตำบลบ้านด้าย ปันแก๊สดีใช้ต้มไข่เค็มพอกดินจอมปลวก แบรนด์ “ไข่เค็มไอโอดีน” และใช้ทอด “ข้าวเกรียบออร์แกนิคบ้านดงป่าสัก” เพื่อส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพชุมชน

ธุรกิจสุกร CPF

“กากตะกอนดี สู่เกษตรกร” จากกากตะกอนในระบบไบโอแก๊สของทั้งฟาร์มสุกรและโรงงาน ที่ยังมีจุลินทรีย์ดี มีแร่ธาตุสารอาหารที่พืชต้องการ นำไปตากแห้งกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี โดยมีเครือข่ายร่วมพัฒนา ทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น นักวิชาการเกษตร CPF และ CPP เพื่อส่งมอบปุ๋ยกากตะกอนให้เกษตรกรรอบหน่วยงาน รวมถึงโครงการผักปลอดภัยชุมชนบ้านด้าย ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ ขณะเดียวกัน ฟาร์มในโครงการส่งเสริมฯ สามารถเพิ่มรายได้เสริมจากการกรอกปุ๋ยกากตะกอน

บันเทิง ผลเจริญ ปราชญ์ปุ๋ยกากตะกอนสวนผลไม้ กล่าวว่า กากตะกอนดี ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้กว่า 50% ซื้อปุ๋ยเคมีลดลงมากกว่าครึ่ง กากตะกอนดีได้มาฟรีๆนำมาหมักรวมกับกากน้ำตาล ทำให้ผลผลิตดีขึ้น ดินก็ไม่เสียด้วย

“Waste No More สานต่อความยั่งยืน” โครงการซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรของพนักงานธุรกิจสุกรของซีพีเอฟ ที่ได้รับรางวัลโดดเด่นในการประกวด CPF Sustainability in Action Awards 2024 เป็นต้นแบบของโครงการที่มีแนวปฏิบัติที่ดี ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยังสะท้อนถึงความตระหนัก ความตั้งใจ ในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-Zero) ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงานและชุมชนรอบข้าง สร้างคุณค่าคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo