ทำความรู้จัก “วันโอโซนโลก”16 กันยายน โลกร่วมลดใช้สาร CFCs และสารฮาลอน ตัวทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ร่วมลดโลกร้อน
วันที่ 16 กันยายนของทุกปี กำหนดเป็นวันโอโซนโลก ซึ่งถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2530 โดยนานาประเทศได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซน ขึ้นในปี 2528 เรียกว่า อนุสัญญาเวียนนา และพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน และจัดให้ลงนามใน พิธีสารมอนทรีออล ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2530 ส่วนประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้วันที่ 15 กันยายน 2531 และให้สัตยาบัน วันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยวันที่ 2 ตุลาคม 2532
การกำหนดวันโอโซนโลกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประเทศปฏิบัติต่ออนุสัญญา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และช่วยกันลดใช้สาร CFCs และสารฮาลอน ซึ่งเป็นตัวทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ
โอโซน (Ozone หรือ O3) เป็นก๊าซที่เกิดจากการแตกตัวของก๊าซออกซิเจนในชั้นบรรยากาศออกเป็นสองอะตอม แล้วอะตอมดังกล่าวนั้นได้รวมตัวกับออกซิเจนโมเลกุลอื่น ซึ่งก๊าซโอโซนมีความสามารถในการดูดซึมรังสีอัลตราไวโอเลต และรังสีไวโอเลตก็สามารถทำให้โอโซนแตกตัวกลับเป็นอะตอมและโมเลกุลของออกซิเจนเหมือนดังเดิม
ตามปกติโอโซนเป็นก๊าซไม่คงตัวจึงจะทําปฎิกิริยากับสิ่งต่าง ๆ เช่น ควัน ต้นไม้ เป็นต้น และกลายเป็นก๊าซออกซิเจนธรรมดาก่อนลงมาถึงพื้นโลก อย่างไรก็ตามระดับของก๊าซโอโซนจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัน เวลา และสถานที่ นอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์กับการหมุนเวียนของลม และสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ อีกด้วย
โอโซนระดับสูง จะเป็นโล่ป้องกันให้พืชและสัตว์พ้นจากอันตรายของรังสี UV และช่วยให้อากาศของพื้นโลกเสถียร ถ้าหากโมเลกุลของโอโซนถูกทำลายไปจำนวนหนึ่งก็จะทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถเข้ามาถึงพื้นผิวของโลกได้มากยิ่งขึ้น เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน และเป็นอันตรายต่อมนุษย์เช่น มะเร็งผิวหนัง ต้อเนื้อต้อลม พืชแคระแกรน วัสดุต่าง ๆ เปราะและหักพังเร็วขึ้น
โอโซนจะถูกทำลายได้ด้วยสารทําลายโอโซน ได้แกสารพวกฮาโลคาร์บอน (Halocarbon) คือสารที่มีส่วนประกอบของธาตุคลอรีน (Cl) ฟลูออรีน (F) โบรมีน (Br) คาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) ซึ่งเป็นคํารวมที่เรียกสารทำลายโอโซนส่วนมาก เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือซีเอฟซี (Chlorofluorocarbon, CFCs) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องทําความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ โฟม กระป๋องสเปรย์ สารดับเพลิง สารชะล้าง คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (CCl4) มักใช้เป็นตัวทําละลายในห้องปฏิบัติการ การผลิตยาเม็ด และใช้ทดสอบการดูดซึมของถ่านกัมมันตรังสี เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันหยุดผลิตสารทำลายโอโซนที่กล่าวมานี้ ยกเว้นในกรณีที่จำเป็น และในอุตสาหกรรมได้พยายามผลิตสารที่เป็นมิตรกับโอโซน (Ozone-Friendly) ตามพิธีสารมอนทรีออลซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทําลายชั้นบรรยากาศโอโซน และค่อยๆ ฟื้นฟูปริมาณโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ให้เพิ่มขึ้น โดยคาดการว่าปริมาณโอโซนจะกลับเข้าสู่ระดับปกติในปี 2613
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สุดยอดเด็กไทย! คว้ารางวัล ‘Dow Innovation Award’ ผลิตไบโอดีเซลจากขยะทางการเกษตร ช่วยลดโลกร้อน
- กรมลดโลกร้อน ร่วมมือ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ-เครือข่าย ทสม.ระยอง พัฒนาสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน
- กรมลดโลกร้อน จับมือ เดอะมอลล์ จัด Roadshow ลดใช้ Single – use plastic ในห้างสรรพสินค้า
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx