“เนสท์เล่” ชูหลักการ “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” หนุนเกษตรกรทำสวนกาแฟอย่างยั่งยืน ปลูกกาแฟ ควบคู่กับการอนุรักษ์ สร้างผลผลิตระยะยาว พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชเสริมอื่น ๆ สร้างรายได้เพิ่มเติม
นายทาธฤษ กุณาศล ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า บทบาทสำคัญของบริษัทคือ สร้างความยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลผลิตในระยะยาว มีนักวิชาการเกษตรที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
“งานหลักของเรา นอกจากเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดี ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การสร้างความยั่งยืนซึ่งเราเรียกว่าหลักการ Regenerative Agriculture หรือ การเกษตรเชิงฟื้นฟู”
ในการขับเคลื่อนการเกษตรเชิงฟื้นฟูนั้น เนสท์เล่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในการให้ความรู้ และการสนับสนุนด้านเทคนิคในการทำสวนกาแฟอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการผนึกความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย หรือ GIZ ในการจัดทำหลักสูตร Farmer Business School ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ให้มีแนวคิดของผู้ประกอบการเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนโครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย เพื่อส่งเสริมการใช้การเกษตรเชิงฟื้นฟูในสวนกาแฟให้มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาต้นกล้ากาแฟที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในประเทศไทย และได้กระจายต้นกล้ากาแฟพันธุ์ดีเหล่านี้ให้กับเกษตรกรมาแล้วเกือบ 4 ล้านต้น
การใช้การเกษตรเชิงฟื้นฟู คือการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรทางการเกษตร ในปัจจุบันสินค้าทางการเกษตรมีความเสื่อมโทรมอย่างมาก ในเรื่องของต้นน้ำของสินค้า ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รวมถึง ลดการปล่อยคาร์บอน ปกป้องแหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ปลูกกาแฟ และส่งเสริมการปลูกกาแฟคู่กับป่า และใช้พืชคลุมดินป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ส่งเสริมการปลูกพื่ชที่หลากหลาย และส่งเสริมการสร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่น ๆ ด้วย
การใช้ปุ๋ยอินทรีและปุ๋ยเคมีให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ที่จำเป็นต่อต้นกาแฟที่พอดี สามารถลดต้นทุนของปุ๋ยได้อีกด้วย และให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของเกษตรกร โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,000 คนได้รับการฝึกฝนเกษตรกรรม สามารถสร้างรายได้ฟาร์มสุทธิเพิ่มขึ้น 88% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับ 2561
ทางด้าน นางสาวนิภาวรรณ โดดเสนา นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ระบุว่า หน้าที่หลัก ๆ คือการเข้าไปแนะนำเกษตรกร เช่นเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ การดูแล การใช้ปุ๋ยต่าง ๆ ให้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ด้วยเนื้องานทำให้ต้องลงพื้นที่ไปใกล้ชิดเกษตรกรเพื่อรับฟังปัญหา และช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรแต่ะคนได้อย่างตรงจุด พื้นที่หลัก ๆ ก็คือ จังหวัดชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี
บริษัทพยายามให้เกษตรกรพึ่งพาสารเคมีให้น้อยที่สุด ซึ่งจะสามารถทำให้การผลิตกาแฟยั่งยืนมากขึ้น ทั้งยังแนะนำให้ปลูกพืชหลากหลาย นอกจากจะให้ร่มเงา ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยเนื่องจาก ก่อนที่จะมีรายได้จากกาแฟ ก็สามารถมีรายได้เพิ่มเติมจากพืชอย่างอื่น
“การวิเคราะห์ดินก็จะแนะนำเกษตรกรให้หมักปุ๋ยใช้ ซึ่งปุ๋ยเคมีก็ยังให้ใช้อยู่ แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงผึ้ง เพื่อให้ผึ้งช่วยผสมเกสรของกาแฟ ซึ่งผึ้งเองยังเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ทางชีวภาพ ส่วนไหนที่เลี้ยงผึ้ง มีผึ้งบินอยู่ เราจะรู้เลยว่าไม่มีการใช้สารเคมีในภาพรวมก็คือ เราก็เข้าไปช่วยครอบคลุมในหลายมิติ”
ขณะที่ นายสุดใจ คำยอด เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจากจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ปลูกกาแฟมาเกือบ 40 ปี มีช่วงเวลาที่เคยท้อแท้จากผลผลิตที่น้อยลงและไม่ได้คุณภาพ จนทางเนสท์เล่ได้ส่งนักวิชาการเกษตรมาช่วยเหลือ และให้คำแนะนำในการปลูกกาแฟแทบจะทุกด้าน รวมทั้งหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู จนผลผลิตกลับมาดีขึ้น
“เขาก็ให้คำแนะนำเช่น สอนเสียบยอดกาแฟ ต้นกล้าที่ให้มาปี 2556 ก็ดีมาก สายพันธุ์ดี ทนแล้ง ต้านทานโรคได้ดี ปุ๋ยหมักก็สอนทำ ซึ่งดีมาก โดยเราก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมาก แต่ก็ได้เรียนรู้จากเนสท์เล่ว่า อย่าฉีดยาหญ้า ให้รักษาหญ้าไว้ ปลูกพืชตระกูลถั่วบ้าง ซึ่งผลผลิตก็ได้สูงกว่าเดิมด้วย”
นายสุดใจ บอกด้วยว่า สวนของเขาใช้แนวทางของเนสท์เล่ ทำให้ได้รับผลกระทบจากโลกที่ร้อนขึ้นน้อยกว่าคนอื่น ๆ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรให้หันมาใช้หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเพื่อผลผลิตที่ดีอย่างยั่งยืน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘เนสกาแฟ’ เสริมแกร่ง ‘ธุรกิจกาแฟ’ สร้างแรงบันดาลใจ-พัฒนานวัตกรรม มุ่งสู่อนาคตยั่งยืน
- หนุนเกษตรกร 8 จังหวัดภาคเหนือ ปลูกกาแฟ พืชเศรษฐกิจตลาดต้องการสูง แทนปลูกพืชเชิงเดี่ยว
- บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ สร้างโอกาส SMEs ซื้อแฟรนไชส์กาแฟพันธุ์ไทย
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg