นายกฯ ปาฐกถา ในสัมมนาวิชาการ ทศวรรษที่ก้าวผ่าน ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ย้ำพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือ รัฐ-เอกชน-ประชาชน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาวิชาการ ทศวรรษที่ก้าวผ่าน ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Shaping our future: A Symposium on Environment Governance for Sustainability)
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน: ตัวเร่งปฏิกิริยาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทย พร้อมด้วย ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต้อนรับและแนะนำหลักสูตรฯ เน้นย้ำพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่สิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นในหลายด้าน ส่งผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากการการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยมีความท้าทายจากทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ และการเตรียมปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล ที่เน้นสร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน (Public-Private-People Partnership หรือ PPPP) มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Decoupling หรือการลดการใช้ทรัพยากร และการลดของเสียในกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นหลัก
การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างสังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีภูมิคุ้มกัน และอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข
ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการจัดการศึกษาอบรม หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.) มาอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักบริหารระดับสูงในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล เสริมสร้างประสบการณ์และกระบวนทัศน์ของนักบริหารสิ่งแวดล้อมยุคใหม่
ที่ผ่านมา หลักสูตร ปธส. ได้รับความสนใจจากหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยในแต่ละปี มีผู้สมัครเพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมในหลักสูตรเป็นจำนวนมาก และมีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 10 รุ่น รวมทั้งสิ้น 647 คน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาอบรมหลักสูตร ปธส. รุ่นที่ 11
สำหรับผู้ผ่านการศึกษาอบรมในหลักสูตรนี้ เป็นบุคลากรจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคเอกชน ข้าราชการจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการทหารและตำรวจ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรอิสระ สมาคมและมูลนิธิ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายที่มีศักยภาพ ในการสนับสนุนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ
การจัดงานสัมมนาวิชาการในวันนี้ จัดขึ้นภายใต้หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.) ซึ่งนอกจากการปาฐกถาพิเศษ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน: ตัวเร่งปฏิกิริยาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
- การนำเสนอ Sustainable Growth Model : ขับเคลื่อนการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย พร้อมมอบข้อเสนอเชิงนโยบาย Sustainable Growth Model ให้แก่นายกรัฐมนตรี
- การเสวนา ประชาคม ปธส. : การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับสังคมไทย
ในการจัดงานครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาอบรม มาสร้างประโยชน์ในวงกว้าง และแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของเครือข่ายความร่วมมือของผู้บริหารระดับสูงระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งสู่การพัฒนาและผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมภาครัฐ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ผ่านการดำเนินงานแบบบูรณาการเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดงานแบบปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event) โดยมีการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนของงานจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ทำให้การจัดงานครั้งนี้มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- นายกฯ เชื่อมั่นงาน BIDC 2024 หนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยแกร่ง ดันไทยฮับภูมิภาค
- ‘บีโอไอ’ เปิดยอดขอส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรกพุ่ง 4.58 แสนล้าน เร่งโรดโชว์ดึงลงทุนเพิ่ม
- เราพร้อมแล้ว! ‘นายกฯ’ เผย ‘คลัง’ เตรียมแถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อย่างเป็นทางการวันนี้
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter) : https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg