Environmental Sustainability

‘ศูนย์วิจัยกรุงไทย’ ชี้ ‘เทคโนโลยีสีเขียว’ ช่วยยกระดับ ‘อุตสาหกรรมน้ำตาล’ สู่ ‘อุตสาหกรรมสีเขียว’ ยั่งยืน

“ศูนย์วิจัยกรุงไทย” ชี้ การลงทุนเทคโนโลยีสีเขียว ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างยั่งยืน รับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ลดแรงกดดันมาตรการคู่ค้า ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในยุค Decarbonization

นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้จากการส่งออกมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร

เทคโนโลยีสีเขียว

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมนี้ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมลพิษค่อนข้างสูง โดยการปล่อย PM 2.5 สูงถึง 11% ของการปล่อย PM 2.5 ทั้งหมดของไทย และปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 9% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในภาคเกษตร จึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หลายฝ่ายตื่นตัว ผลักดันให้เร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

หากสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของภาคเกษตร ที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Nationally Determined Contribution (NDC)

นายอภินันทร์  บอกด้วยว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 จากกระบวนการเผาอ้อย การใช้พลังงานความร้อนจำนวนมากในกระบวนการผลิตน้ำตาล

เทคโนโลยีสีเขียว

การผลิตน้ำตาลของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยทุก ๆ 1 ตัน จะมีการปล่อยมลพิษราว 7,150 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) หรือเทียบได้กับการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกระยะทางราว 10,000 กิโลเมตร รวมถึงมีของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาล มีความเสี่ยงจากนโยบาย และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น

ประกอบกับความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต อาจส่งผลให้ในปี 2589-2598 ผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มลดลงราว 25-35% กระทบผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลของไทยให้เผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

ทางด้าน นายกฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลลดแรงกดดันจากมาตรการของคู่ค้า ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนจากการใช้พลังงาน สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

รวมถึงสามารถเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม จากการต่อยอดไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และยังมีแรงหนุนจากหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่ต้องการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

เทคโนโลยีสีเขียว

“เทคโนโลยีสีเขียว จะเป็น Key enabler ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลรายกลาง ที่ยังไม่มีการปรับตัวเรื่องนี้มากนัก สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้ง่ายขึ้น เช่น การใช้รถตัดอ้อยแทนการเผาอ้อย การใช้ Economizer Boiler ในโรงงานน้ำตาล หรือการต่อยอดไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล”

หากประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน พบว่า มี ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) อยู่ที่ 21.0% 16.1% และ 27.1% ตามลำดับ โดยมีระยะเวลาการคืนทุนอยู่ที่ 3-7 ปี และหากอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งหมด 63 โรง ยกระดับการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ได้ผลประโยชน์ราว 170,000 ล้านบาท จากความคุ้มค่าในแง่สิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศและประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมถึงสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้แก่ธุรกิจ

ส่วนนายปราโมทย์ วัฒนานุสาร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า หากอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยต้องการประสบความสำเร็จ ในการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ต้องให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในการลงทุนเทคโนโลยี ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดได้ อีกทั้งมี Commitment ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงควรสร้างความร่วมมือกันในอีโคซิสเต็ม ตั้งแต่เกษตรกร ไปจนถึงภาครัฐ เพื่อการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีสีเขียว

“หน่วยงานภาครัฐ ควรเป็นแกนหลัก ผลักดันให้อุตสาหกรรมน้ำตาล ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เช่น การพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากลอย่าง Gold Standard หรือ VERRA ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเต็มที่”

เช่นเดียวกับภาคการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยทั้งระบบให้สามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo