กัลฟ์ ชูศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง สู่ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมผ่านกิจกรรม “กัลฟ์สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว”
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)หรือ GULF นำโดย นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ พร้อมด้วย นางสาวญาณิศา วัฒนคำนวณ ผู้อำนวยการด้านการบริหารสายงานสื่อสารองค์กร จัดกิจกรรม “กัลฟ์สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว” โดยมี นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ ปลัดจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธี ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จังหวัดสระบุรี
การลงแขกเกี่ยวข้าวถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ และยังเป็นวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวนาไทยที่มีความผูกพันกับธรรมชาติ โดย GULF เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีทรงคุณค่านี้ จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา ที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตร และแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้า และเผยแพร่องค์ความรู้ เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตร และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนกับภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างวิถีเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และขยายองค์ความรู้สู่เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคต่อไป

ภายในงานยังมีการนำผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยว มาสาธิตวิธีการแปรรูปเป็นอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ วิธีการทำข้าวจี่ไข่ อาหารพื้นบ้านของภาคอีสาน และภาคเหนือซึ่งใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และไข่จากฟาร์มไก่ไข่ ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมงานได้นำแนวคิดไปปรับใช้ ต่อยอด และพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ต่อไป
ทั้งยังมีการนำผลิตภัณฑ์จากข้าวอีกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นผลผลิตบางส่วนจากแปลงนา ซึ่งได้เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูกาลก่อนหน้านี้ นำมาทำเมนูอาหารสำหรับผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมข้าวหอม จากข้าวกล้องมรกต ข้าวเม่าจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู และซีเรียลจากข้าวไรซ์เบอร์รี่
นายธนญ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง กัลฟ์ก็ได้เล็งเห็นแล้วว่า พื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จึงมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรงไฟฟ้าและวิถีเกษตรชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และโครงการต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์
ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ได้ดำเนินโครงการมา มีผู้เข้ามาศึกษาดูงาน ที่ไม่ใช่เพียงเกษตรกรในชุมชนโดยรอบเท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการจากที่ต่าง ๆ มาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง
กัลฟ์พยายามหาแนวทางที่ดีขึ้น และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด โดยมีเป้าหมายอยากให้ศูนย์แห่งนี้ เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการวางแผน และออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าจากทรัพยากรที่มีให้ได้มากที่สุด
ที่สำคัญจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น ทางศูนย์มีการจัดการแปลงนา ที่ลดการสร้างมลภาวะ โดยจะไม่เผาตอข้าวเก่า ที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก แต่เปลี่ยนเป็นการทำนาข้าวตอที่ 2 แทน
ตอข้าวเก่าจะถูกหมุนเวียน โดยใช้จุลินทรีย์ย่อยเป็นปุ๋ย สำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติภายในศูนย์ ซึ่งสามารถสะท้อนแนวคิด “Zero Waste” หรือการกำจัดขยะให้มีปริมาณน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
บริษัทยังมีแผนที่จะนำพลังงานสะอาด อย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบของศูนย์อย่างครบวงจรมากขึ้นในอนาคต

ทางด้านนายดุรงค์ฤทธิ์ ปลัดจังหวัดสระบุรี กล่าวเสริมว่า ภาพรวมของจังหวัดสระบุรี ส่วนใหญ่ประชาชนจะประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะที่ อำเภอหนองแซง จะมีการทำนาเป็นหลัก เนื่องจากมีคลองชลประทาน
การทำนาในปัจจุบันเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว จะเผาตอฟาง ซึ่งสร้างมลพิษในอากาศ แต่ที่กัลฟ์มีการทำแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแนวทางให้ความรู้กับชาวบ้าน ในเรื่องของการทำนาโดยไม่ต้องมีการเผาฟาง เป็นการทำเกษตรแบบหมุนเวียนที่ได้ผลผลิตไม่ต่างไปจากการทำนาโดยใช้เครื่องจักร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ต้องขอบคุณบริษัทกัลฟ์ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชุมชน และได้ริเริ่มโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตร ให้กับชุมชนทั้งในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจการทำเกษตรแบบยั่งยืน ก็สามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จังหวัดสระบุรี”

ขณะที่ นายธนากิจ กายพรมราช ผู้จัดการโรงไฟฟ้าหนองแซง กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต ตั้งอยู่บนพื้นที่ 42 ไร่ ของโรงไฟฟ้าหนองแซง โดยตอนนี้พื้นที่หลักจะเป็นที่นาสำหรับปลูกข้าว เปรียบเสมือนห้องทดลองในการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่นาของตัวเองได้ และมีการปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำไปแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้
ทางศูนย์ตั้งเป้าที่จะผลักดันวิถีเกษตรอินทรีย์ผ่านการอบรมให้กับชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีการให้ความรู้ในหลายเรื่อง เช่น การเลี้ยงไส้เดือน และทำปุ๋ยมูลไส้เดือนใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ที่จะใช้วิธีการนำปลายข้าว และเศษพืชผัก มาเป็นอาหารให้หนอน ก่อนนำหนอนระยะดักแด้ มาเป็นอาหารไก่ไข่ภายในศูนย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการนำร่องสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร และสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีเกษตรชุมชนอย่างแท้จริง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘กัลฟ์’ แจ้งโรงไฟฟ้าร่วมทุนจีน ‘ปากแบง’ ในลาว เซ็นขายไฟให้ ‘กฟผ.’ สัญญา 29 ปี
- ‘กัลฟ์’ มอบ 8.5 ล้านบาท แก่ทันตะ จุฬาฯ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทันตกรรมอย่างเท่าเทียม
- กัลฟ์ เปิดตัว โครงการ ‘GULF Sparks, Life Starts เติมพลังไฟให้ชีวิต’ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ชุมชน