กรมทางหลวงชนบท หนุนรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้าง “ถนนจากขยะพลาสติก” สาย อย.2039 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 5.1 กม.
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม โดยสำนักวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนา ดำเนินโครงการทดลองผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตที่มีส่วนผสมขยะพลาสติก จากปัญหาขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากย่อยสลายได้ยาก
ทช. จึงทดลองโครงการงานบำรุงถนนทางหลวงชนบทสาย อย.2039 แยก ทล.33 – บ้านไก่จ้น อำเภอภาชี ท่าเรือ และหนองแค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการสร้างถนน พร้อมติดตามพฤติกรรม และสมรรถนะทางวิศวกรรมในการพัฒนาผิวทางชนิดดังกล่าว
ถนนจากขยะพลาสติก 5 ตัน ต่อระยะทาง 1 กม.
ปัจจุบันโครงการฯ ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นทาง และไหล่ทางเดิม ด้วยวิธี Cement Stabilized In – Place พร้อมปูผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตผสมขยะพลาสติก
โดยใช้ขยะพลาสติก 5 ตัน ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ช่วง กม. ที่ 10+100 – 15+200 ระยะทางรวม 5.1 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 21 ล้านบาท เพื่อช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของประชาชนให้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดยเก็บข้อมูลเปรียบเทียบผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตผสมขยะพลาสติก กับผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีตในสภาพแวดล้อม และสภาพการจราจรเดียวกัน เพื่อวิจัย และพัฒนางาน ซึ่งเป็นนวัตกรรมผิวถนนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้
ทดลองแล้ว 3 สายทาง
สำหรับโครงการฯ ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 สายทาง ดังนี้
- ถนนทางหลวงชนบทสาย ปท.3026 แยก ทล.305 – บ้านหนองแค อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 0.279 กิโลเมตร
- ถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.1002 แยก ทล.1 – บ้านสองคอน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 1.525 กิโลเมตร
- ถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.3050 แยก ทล.362 – บ้านปากบาง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 1.905 กิโลเมตร
ทั้งนี้ จะช่วยให้ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถกำจัดได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยืดอายุการใช้งานของถนนได้เป็นอย่างดี รวมถึงพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคต
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- การรถไฟฯ รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างบุกรุก แนวโครงการก่อสร้าง ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’
- การsถไฟฯ นำร่องติด ‘โซลาร์รูฟ’ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีแดง
- มาแล้ว!! รฟม. อัปเดตก่อสร้าง ‘โครงการรถไฟฟ้า 5 สาย’ แต่ละสายคืบหน้าเท่าไหร่ เช็กที่นี่