ชัชชาติ โชว์ตัวเลข โครงการแยกขยะ-ไม่เทรวม “ลดปริมาณขยะ” เดือนละ 67,248 ตัน ประหยัดงบกำจัดกว่า 127 ล้าน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากนโยบายเรื่องการจัดการขยะที่ได้ดำเนินการใน 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งการรณรงค์ Zero Waste ที่เข้าไปส่งเสริมภาคเอกชนและชุมชนต่าง ๆ ให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และโครงการไม่เทรวม ที่ส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง
ข้อมูลปัจจุบัน ได้ขยะเปียกที่นำไปทำปุ๋ยหมักภายใต้โครงการไม่เทรวมอยู่ที่ประมาณ 70 ตัน/วัน ที่เหลือเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและอาคารสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งมีการแยกขยะที่ต้นทางด้วย
ลดปริมาณขยะ 67,248 ตันต่อเดือน
สำหรับตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่รณรงค์ให้เอกชนรายใหญ่มาร่วมกันแยกขยะ ทำ Zero Waste โดยปริมาณขยะปี 66 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 65 ดังนี้
- เดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 199 ตัน/วัน 5,572 ตัน/เดือน
- เดือน มีนาคม ลดลง 273 ตัน/วัน 8,463 ตัน/เดือน
- เดือน เมษายน ลดลง 318 ตัน/วัน 9,540 ตัน/เดือน
- เดือน พฤษภาคม ลดลง 713 ตัน/วัน 22,103 ตัน/เดือน
- เดือน มิถุนายน ลดลง 719 ตัน/วัน 21,570 ตัน/เดือน
ซึ่งรวมลดลง 67,248 ตัน/เดือน ประหยัดงบประมาณได้กว่า 127.77 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จของทุกคนที่ร่วมมือกัน และจะนำไปสู่การเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถลดปริมาณขยะที่จะไปสู่หลุมฝังกลบหรือเผา
ส่วนปัญหาที่บางพื้นที่ยังเก็บขยะได้ไม่ดี เช่น จุดบางจุด หมู่บ้านบางหมู่บ้าน ที่อาจมีการเก็บสัปดาห์ละวัน ได้มีจัดเก็บข้อมูล ทั้งจำนวนรถ จำนวนบุคลากร ระบบจัดเก็บขยะเป็นอย่างไรในแต่ละเขต พบว่า ปัจจุบันจำนวนรถขยะเพียงพอกับปริมาณขยะของทุกเขต กรอบอัตรากำลังพนักงานขับรถและพนักงานเก็บขยะ ไม่สัมพันธ์กับจำนวนรถเก็บขนมูลฝอย เขตชั้นนอกมีการขยายตัวของเมืองสูงแต่อัตรากำลังยังเท่าเดิม ทำให้ไม่สามารถใช้รถจัดเก็บขยะรอบที่ 2 ได้ทุกคัน การขยายตัวของเมืองทำให้เหลือรอบการจัดเก็บ 1 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้สามารถบริการได้ทั้งพื้นที่
แนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บมูลฝอย
เมื่อนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ และหาแนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บมูลฝอย จะได้แนวทางหลัก ๆ ดังนี้ 1. ถนนสายหลัก ถนนสายรอง (จุดทิ้งขยะบนทางเท้า) ให้จัดเก็บทุกวัน 2. ถนนขนาดเล็ก ชุมชน (ตามระเบียบ) วัด สถานที่ราชการ ให้จัดเก็บ 2 – 3 ครั้ง/สัปดาห์ และ 3. ตลาด หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างฯ ให้จัดเก็บ 2 – 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมากกว่า
โดยภายใน 1 เดือน จะต้องให้เห็นการปรับปรุงอย่างชัดเจน ซึ่งนโยบายคือ ปรับพื้นที่เก็บขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับจำนวนรถจากเขตที่มากเกิน ไปยังเขตที่รถมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือลดจำนวนการเช่า รถอัดท้าย (2 ตัน และ 5 ตัน) ต้องใช้ให้ได้ 2 เที่ยว/วัน ใช้บุคลากร 2 ชุด รถยกภาชนะ (3 ลบ.ม. และ 8 ลบ.ม.) ใช้รถมากกว่า 2 เที่ยว ใช้ พขร. 1 คน/วัน เกลี่ยอัตรากำลังระหว่างเขต พิจารณาให้เงินค่าอาหารทำการนอกเวลา (OT) สำหรับบุคลากรที่อาสา
และให้จัดทำแผนปรับปรุงการจัดเก็บขยะ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ระบุพื้นที่ วันเก็บ เวลาจัดเก็บให้ชัดเจน หากภายใน 1 เดือน ยังมีปัญหาเรื่องเก็บขยะไม่ครบถ้วน เช่น จัดเก็บแค่ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ให้แจ้งมาที่ Traffy Fondue
นอกจากนี้ อยากจะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ช่วยแยกขยะ เป็นขยะเปียกกับขยะแห้ง หรือถ้าเราสามารถแยกขยะรีไซเคิลออก เช่น ขวดพลาสติก PET หรือกระดาษ ไปขายซาเล้งได้ ก็จะทำให้การแยกขยะท้ายรถของพนักงานน้อยลง รถขยะก็จะจัดเก็บได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหากในหมู่บ้านสามารถนำขยะมากองรวมกันเป็นจุด หรือมีการลากขยะมารวมที่จุด ก็จะทำให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กทม. ห่วงภัยแล้ง หลัง ‘ปริมาณฝน’ น้อยกว่าเกณฑ์ 38% ประสานกรมชลฯ ดูแลพื้นที่เกษตรฝั่งตะวันออก
- กทม. รอหารือรัฐบาลใหม่ ช่วยจ่ายหนี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ชัชชาติ ย้ำต้องยุติโดยเร็ว กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน
- กทม.- สปสช. ชวนประชากรแฝงกว่า 7 แสนคน ‘สิทธิบัตรทอง’ ลงทะเบียน ‘ใช้สิทธิในกรุงเทพ’ หาหมอใกล้บ้าน