ทส. เตรียมตั้ง “ศูนย์ประสานงาน” การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมป้องกันพันธุ์พืช-สัตว์ ถูกสายพันธุ์ต่างถิ่นคุกคาม
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดงานวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงาน เตรียมตั้งศูนย์ประสานงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยให้ ทสจ. เป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อป้องกันชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ถูกสายพันธุ์ต่างถิ่นคุกคาม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “From Agreement to Action: Build Back Biodiversity” ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี ระบุว่า ประเทศไทย เน้นยกระดับการทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
เตรียมตั้งศูนย์ประสานงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของไทย โดยเฉพาะการจัดทำเป้าหมายระดับชาติ (national targets) ภายใต้แผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2566 – 2570 ควบคู่กับการจัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว พ.ศ. 2567 – 2590 และให้ความสำคัญของการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ต้องควบคู่กันไป
โดยไทยจะดึง ทสจ. มาใช้สร้างการรับรู้และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ด้วยการตั้งศูนย์ประสานงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานศูนย์ดังกล่าว
เพื่อศึกษาความหลากทางชีวภาพของพื้นที่นั้นๆ ว่ามีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) จากนั้นค่อยรวมข้อมูลของทั้งประเทศ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการในเรื่องนี้
เพื่อต้องการที่จะให้ประชาชนและเยาวชนมีความตระหนักและเข้าใจถึงความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเข้าใจเพียงแค่เรื่องโลกร้อนเท่านั้น เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกัน จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนงานไปพร้อมกัน เพื่อกระจายการสร้างความเข้าใจของประชาชนในทุกพื้นที่
ส่วนการพัฒนาศักยภาพ ทสจ. ก่อนลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน ต้องมีการศึกษาออนไลน์ และมีการสอนเพิ่มเติมโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้มีความเข้าใจก่อนจะนำไปให้ความรู้กับประชาชนและเยาวชนได้
ปกป้องพันธุ์พืช-สัตว์ ถูกคุกคามจากสายพันธุ์ต่างถิ่น
ด้าน นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การรวบรวมระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในไทย จะช่วยส่งผลดีต่อการรวบรวมชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ของแต่ละพื้นที่ที่มีอยู่
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นไม่น้อยกว่า 3,500 ชนิด แต่ที่มีศักยภาพรุกรานมี 323 ชนิด เช่น ปลาหมอคางดำ หอยเชอรี่ จอกหูหนูยักษ์ และกระถิ่นหางกระรอก จนส่งผลกระทบให้ชนิดพันธุ์ของไทยที่ถูกคุกคาม เช่น นกแสกทุ่งหญ้า พะยูน ปูเจ้าพ่อหลวง เสือปลา ว่านเข้าพรรษา และนกเด้าลมแม่น้ำโขง
โดยภาครัฐจะต้องประสานความร่วมมือกับประชาชน ออกระเบียบควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ประเมินความเสี่ยงการนำเข้า-ส่งออก ไม่ปล่อบหรือทิ้งสัตว์และพืชต่างถิ่นออกสู่ธรรมชาติ และลดการทำบุญโดยการปล่อยสัตว์ต่างถิ่น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ปลัด ทส.’ ขึ้นเวที ถ่ายทอด ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม อบรม ‘ปธส.รุ่น 10’
- ท ส. ลงนามสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ คลองหก คาดเสร็จปี 2570
- ท ส.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ยกระดับผู้นำเครือข่าย ทสม.