Environmental Sustainability

สส. ลุยสางปัญหา ‘PM2.5’ 3 พื้นที่ เมือง-ป่า-เกษตร เน้นป้องก้น เสริมความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม

สส. ลุยสางปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง ‘PM2.5’ เน้นป้องกันมากกว่าแก้ไข เสริมความรู้การจัดการไฟป่าให้ประชาชน พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม 3 พื้นที่ “ป่า เมือง เกษตร” บนหลักการ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับการปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม”

ปรับรูปแบบการทำงานให้เข้าถึงง่าย เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ให้มากที่สุด เช่น การผสานภูมิปัญญาและองค์ความรู้การจัดการไฟป่าและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน “พิธีสาปแช่ง คนเผาป่า”

สส.

แหล่งกำเนิด PM2.5

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 มักเกิดขึ้นในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศจะมีเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ อากาศนิ่ง ลมสงบ ปริมาณฝนน้อย เกิดสภาวะแห้งแล้ง มีจุดความร้อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเผาในที่โล่ง เกิดไฟป่า หมอกควัน

และในพื้นที่เมือง ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์ การฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษออกมา

ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 นั้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพของคน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในวงกว้าง รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและมีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

สส.

แก้ปัญหา 3 พื้นที่ เมืองป่าเกษตร

อีกทั้งได้มีการยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานในทุกปี โดยในปี 2566 ได้มุ่งเน้นใช้หลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม พร้อม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับการปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม”

ในพื้นที่เมือง แหล่งกำเนิดของปัญหามาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์ การฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ จึงเน้นมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการจราจร โดยขอความร่วมมือในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น โครงการรถรัฐลดมลพิษ โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5

รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดและขยายพื้นที่ในการตรวจวัดควันดำ เพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง เช่น บริษัทรถบรรทุก อู่รถโดยสาร ขสมก. เป็นต้น

สส.

ด้านโรงงานอุตสาหกรรม มีการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น รวมทั้งการควบคุมสถานประกอบการ ได้แก่ กิจกรรมผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น

ส่วนพื้นที่เกษตร แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองและควันมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร จึงเน้นการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา

สำหรับพื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดมาจากไฟป่า จึงเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า

สำหรับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในปีนี้ มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่เฝ้าระวังอย่าง 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงและมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ ลักษณะของป่าผลัดใบแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เมื่อเข้าฤดูแล้งใบไม้และกิ่งไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี และด้วยสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท ยิ่งทำให้ฝุ่นควันถูกกักเอาไว้

สส.

สร้างการรับรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว ยังมีสาเหตุที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ คือการเผาในที่โล่ง ที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เร่งดำเนินการ ตามนโยบายนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กมาอย่างต่อเนื่องตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งหนึ่งกิจกรรมที่ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการพิทักษ์รักษาผืนป่า สายน้ำและป้องกันไฟป่า ลดหมอกควัน คือ “พิธีสาปแช่ง คนเผาป่า” เป็นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้ามามีบทบาท

พร้อมพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและยกระดับการทำงาน มุ่งเน้นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

สส.

นอกจากนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ยังได้มีการปรับรูปแบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้ ทสม. และเครือข่ายภาคประชาชน เป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างการรับรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก

เช่น ทสม. เคาะประตูบ้าน ต่อยอดการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายอาสาสมัคร และศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านและชุมชนปลอดการเผาในพื้นที่ภาคเหนือ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และเป็นพื้นที่บูรณาการความร่วมมือ ในการเฝ้าระวังไฟป่าลดหมอกควันของทุกภาคส่วน นับเป็นตัวอย่างพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและน่าชื่นชม ในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่า ลดหมอกควัน และการเตรียมความพร้อมชุมชนตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

‘ถือเป็นการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติไปยังเครือข่ายภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นมาตรการป้องกันมากกว่าการแก้ไขปัญหา บนหลักการ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับการปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม’ นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo