Dow จับมือ Mura วางแผนสร้าง ‘โรงงานรีไซเคิลพลาสติกขั้นสูง’ ใหญ่ที่สุดในยุโรป มุ่งสู่ผู้ผลิตโพลีเอทีลีน ด้วยวัตถุดิบหมุนเวียน รายใหญ่ที่สุดในโลก
Dow (ดาว) บริษัทด้านวัสุดศาสตร์ชั้นนำของโลก และ Mura Technology ผู้นำด้านโซลูชั่นการรีไซเคิลขั้นสูงระดับโลก ได้ประกาศความร่วมมือเพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก และยกระดับการผลิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น
ล่าสุด Mura มีแผนที่จะสร้างโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงแห่งใหม่ในพื้นที่ของ ดาว ที่เมือง Böhlen ประเทศเยอรมนี ซึ่งจะเป็นโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงที่เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้ว ให้กลายเป็นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยกำลังการผลิตราว 120,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2568
ตั้งเป้ารีไซเคิลขยะพลาสติก 600,000 ตันต่อปี ภายในปี 2573
โดยโรงงานแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขั้นสูง ที่จะเกิดขึ้นหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยตั้งเป้าจะรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้ 600,000 ตันต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเมื่อสำเร็จจะส่งผลให้ ดาว กลายเป็นผู้ใช้งานวัตถุดิบหมุนเวียนเพื่อการผลิตโพลีเอทีลีน รายใหญ่ที่สุดในโลก
กระบวนการรีไซเคิลขั้นสูงของ Mura เรียกว่า HydroPRS (Hydrothermal Plastic Recycling Solution) มีลักษณะเด่นที่การใช้ไอน้ำที่ภาวะยิ่งยวด (supercritical) โดยสามารถแปลงสภาพพลาสติกเกือบทุกชนิด ให้กลับเป็นน้ำมันและสารตั้งต้นของพลาสติกอีกครั้ง เพื่อผลิตเป็นพลาสติกใหม่ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงสามารถนำมาใช้งานได้ทุกประเภท แม้กระทั่งเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร
นำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลซ้ำได้หลายครั้ง
ด้วยกระบวนการขั้นสูงของ Mura นี้ จะสามารถนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลซ้ำได้หลายๆ ครั้ง ช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และป้องกันพลาสติกไม่ให้ต้องไปสู่หลุมฝังกลบหรือเตาเผา
เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.5 ตันต่อการรีไซเคิลพลาสติก 1 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับการเผา อีกทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาการใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
Diego Donoso ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษของ Dow กล่าวว่า เราจะเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของ ดาว และลงทุนในเทคโนโลยีที่ให้ประสิทธิผลสูงสุด เพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและสร้างอนาคตคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ
อีกทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะลดการพึ่งพาวัตถุดิบตั้งต้นจากน้ำมันดิบ
การที่ Mura ใช้สถานที่ของ ดาว เป็นที่ตั้งของโรงงาน ยังจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง นอกจากนี้ ก๊าซที่เกิดขึ้นในกระบวนการรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ ยังสามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลาสติกได้ จึงไม่มีของเสียเกิดขึ้นจากกระบวนการ
พลิกโฉมอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก
Steve Mahon ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Mura Technology กล่าวว่า การจัดการกับวิกฤติขยะพลาสติกนั้น จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ดาว ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมมีความสนใจใช้โซลูชั่น HydroPRS ซึ่งจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก
การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องที่ ดาว ให้กับ Mura ได้นำไปสู่ข้อตกลงที่น่าลงทุน โดยความร่วมมือที่ใกล้ชิดจะช่วยให้ทั้งสองฝ่าย บรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ด้านการรีไซเคิลผ่านเทคโนโลยีระดับสูงตามที่ตั้งใจไว้
รับชมวิดีโอเกี่ยวกับกระบวนการ HydroPRS ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9J_7xT11u8A
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ดาว’ ทุ่ม 350 ล้าน หนุนโครงการสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เตรียมดัน ‘ชุมชนต้นแบบจัดการขยะ’ ในไทย
- ดาว ผนึก พันธมิตร ‘สร้างศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูง’ แห่งแรกของไทย
- ‘ดาว’ เปิดเวทีเสวนา แนะผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ รับเทรนด์ผู้บริโภค