Environmental Sustainability

สผ. ทบทวน การกำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ จังหวัดชุมพร สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

สผ. รับข้อเสนอภาคประชาชน มาพิจารณาทบทวน การกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ จังหวัดชุมพร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ โดยการบริหารจัดการพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน 

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่าตามที่มีกลุ่มประชาชนในพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และใกล้เคียง ของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

สผ.

คัดค้านการกำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ยื่นเรื่องคัดค้านการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พ.ศ. ….  ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

ซึ่งปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ได้มีการลงนามในร่างประกาศดังกล่าว จึงยังไม่มีผลบังคับใช้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายสำนักงานโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาข้อคัดค้านดังกล่าว

ต่อมา สผ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปชี้แจงทำความเข้าใจถึงความเป็นมา ประโยชน์ ผลกระทบในการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมอำเภอปะทิว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้แทนภาคประชาชนกลุ่มประมงปะทิวคลองบางสนและใกล้เคียง เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอปะทิว รวมทั้งผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังข้อชี้แจง

สผ.

ไทม์ไลน์ การออกร่างประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ

ทั้งนี้ การออกร่างประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ฯ มีการดำเนินการโดยลำดับดังนี้

  • พ.ศ. 2552 จังหวัดชุมพร ได้ประสานงานมายัง สผ. ให้พิจารณาพื้นที่หาดทุ่งวัวแล่น ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และใกล้เคียง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำ ป่าชายเลน ชายหาด พื้นที่แนวสันทรายโบราณ มีความเสี่ยงจากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
  • พ.ศ. 2552 – 2553 สผ. ศึกษารวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาและความสำคัญของพื้นที่ โดยมีการประชุมรับฟังความเห็นรายตำบลทั้ง 4 ตำบล ในอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
  • พ.ศ. 2554 – 2556 จังหวัดชุมพรแต่งตั้งคณะทำงานจัดการคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตชายฝั่งทะเลอำเภอปะทิว (ซึ่งมีองค์ประกอบมาจากผู้แทนภาคประชาชนและจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง) และมีพิจารณาการจัดทำร่างมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอีกหลายครั้ง ก่อนเสนอมายัง สผ.
  • พ.ศ. 2557 – 2559 สผ.จัดทำร่างประกาศฯ เสนอ ตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และผ่านการพิจารณาจาก กก.วล. ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560
  • พ.ศ. 2560 – 2564 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างประกาศฯ ก่อนที่จะเสนอร่างประกาศฯ ที่แล้วเสร็จต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

สผ.

ย้ำ เป็นผลดีต่อประมงพื้นบ้าน

ทั้งนี้ ผู้คัดค้านมีความวิตกกังวลว่าหากมีการประกาศบังคับใช้ร่างประกาศฉบับดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพต่าง ๆ และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ในเขตอำเภอปะทิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดย สผ. ยืนยันว่ามาตรการห้ามเครื่องมือประมงเป็นเครื่องมือถูกห้ามในกฎหมายว่าด้วยการประมงอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำประมงพื้นบ้าน

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดข้อกังวลของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ สผ. จะได้รวบรวมประเด็นข้อเรียกร้อง มาพิจารณาทบทวนกับร่างประกาศกระทรวงฯ อีกครั้ง เพื่อให้ร่างประกาศกระทรวงฯ เกิดความเหมาะสมในรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

สผ.

หารือและการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ สผ. จะดำเนินการลงพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล เพื่อหารือและการสร้างความเข้าใจเกี่ยวออกประกาศกระทรวงดังกล่าว เป็นรายตำบลทั้ง 4 ตำบล โดยคาดว่าดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566

และเมื่อได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว สผ. จะหารือกับจังหวัดชุมพรและจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการออกประกาศกระทรวงฯ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต่อไป

เลขาธิการ สผ. ขอให้ความมั่นใจว่าการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อแก้ไข ฟื้นฟู ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ มิให้เสื่อมสภาพลง ตลอดจนเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo