‘ซีพีเอฟ’ โชว์ความสำเร็จ ระบบ ‘ไบโอแก๊ส’ หนุนปศุสัตว์รักษ์โลก ตามแนวทาง BCG Model
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ยกต้นแบบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ตามหลัก BCG Economy Model ชูระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ในฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ หนุนกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ตอกย้ำเป้าหมายส่งเสริมภาคปศุสัตว์รักษ์โลก และช่วยลดโลกร้อน
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร CPF เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับระบบการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบอาหารยั่งยืน โดยเฉพาะการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ระบบการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG มาใช้บริหารจัดการธุรกิจ หนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในฟาร์มสุกร
โดยนำระบบไบโอแก๊ส (Biogas) มาเปลี่ยนมูลสัตว์เป็นพลังงานทดแทน ซึ่ง CPF เป็นองค์กรที่นำร่องดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นเวลา 21 ปีแล้ว
สามารถเป็นต้นแบบของแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ใหักับหน่วยธุรกิจอื่นๆ และถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรรายย่อย (คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง) เพื่อร่วมกันผลักดันภาคปศุสัตว์มีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกอย่างยั่งยืน
CPF ต่อยอดความสำเร็จจากระบบไบโอแก๊ส ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกรีนฟาร์ม (Green Farm) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับนำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าในฟาร์มสุกรของบริษัททั้ง 98 แห่ง ได้ถึง 50-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในฟาร์ม ลดกลิ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมกันนี้ นำระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาใช้ทั้ง Solar Rooftop และ Solar farm
บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้าน นายสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นนำพลังงานทดแทนมาใช้ในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ CPF ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่
- เชียงใหม่
- พิษณุโลก
- นครราชสีมา
- ร้อยเอ็ด
- อุดรธานี
- จันทบุรี
- สงขลา
ทำให้สามารถจัดการของเสียในกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยการผลิตไบโอแก๊สจากมูลไก่เป็นกระแสไฟฟ้าใช้เองในสถานประกอบการ ช่วยลดกลิ่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าลง 70-80%
รวมทั้งยังได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในกระบวนการของโรงคัดไข่ไก่
ขณะเดียวกัน น้ำหลังการบำบัดจากระบบไบโอแก๊ส นำไปใช้หมุนเวียนผสมกับมูลไก่ในระบบฯ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ ส่วนกากไบโอแก๊สหลังการบำบัด มีเกษตรกรที่ขอไปใช้ประโยชน์ในการปรับสภาพดินก่อนที่จะปลูกพืช หรือทำนา ส่วนน้ำหลังการบำบัด เป็นน้ำที่มีแร่ธาตุเหมาะกับการเติบโตของพืช ส่งต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงฟาร์ม นำไปใช้กับแปลงเพาะปลูก ช่วยให้ผลผลิตเติบโตได้ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี
จากการที่ CPF พัฒนาการกำจัดของเสียและน้ำเสีย ที่เกิดจากมูลสัตว์ของฟาร์มเลี้ยงสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ โดยมีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่
นอกจากจะช่วยลดกลิ่นและการปล่อยก๊าซมีเทนที่จะออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งได้นำก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากระบบก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้า และนำกลับมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ สามารถทดแทนไฟฟ้าได้ 69 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
สร้างสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และการเติบโตอย่างยั่งยืน
CPF ในฐานะผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ให้ความสำคัญในการสร้างสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยวางกลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกๆ วันของการดำเนินธุรกิจ ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่กำหนดไว้ 17 เป้าหมาย
ตลอดจนดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact) และสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมาย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี 2050
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ซีพีเอฟ-บริษัทในเครือ’ รับรางวัลระดับดีเยี่ยม ‘องค์กรสนับสนุนคนพิการดีเด่น’ งานวันคนพิการสากล 65
- ‘CPF‘ ชูกระบวนการผลิต-ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน สู่เป้าหมาย Net-Zero งานประชุมเอเปค 2022
- ‘CPF’ มุ่งเป้า ‘บรรจุภัณฑ์พลาสติกรักษ์โลก 100%’ ผลิตอาหารปลอดภัย ดูแลสิ่งแวดล้อม