Telecommunications

คนไทยใช้เน็ต ‘พุ่ง’ ช่วงโควิด-19 ‘EIC’ แนะรัฐออกมาตรการช่วยเพิ่มเติม

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของ ไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน มาตรการให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) และการปิดสถานศึกษาถือเป็นวิธีปฎิบัติที่ถูกใช้เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมในเชิงกายภาพ (social distancing) ในหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐฯ อิตาลี ส่งผลให้ประชากรราว 3 พันล้านคนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่บ้าน

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และกระทรวงศึกษาธิการ ประเมินว่า การประกาศมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชนไทยที่ต้องอยู่บ้านในช่วงกลางวันของวันธรรมดาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคน

ภาพประกอบ 3 1 1

นโยบายการทำงานจากบ้านและการปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ data traffic โดยจากข้อมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศปิดสถานการศึกษาทั่วประเทศและหลายองค์กรเริ่มออกนโยบาย work from home

ทั้งนี้พบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ (mobile broadband) เพิ่มขึ้นกว่า 17% จาก 12 GB/เลขหมาย/เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็น 14 GB/เลขหมาย/เดือน ในช่วงเดือนมีนาคม ในด้านปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลักอย่าง 3BB และ AIS Fibre คาดว่าปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% จากการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต การเรียนออนไลน์ และการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง

Slide1 2

การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมทั้ง fixed broadband และ mobile broadband และการบริหารระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับการใช้งานข้อมูลที่สูงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การขยายช่องสัญญาณในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น การเพิ่มอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ และการเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G และระบบสายใยแก้วนำแสง (FTTX)

นอกจากนี้ การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการบันเทิงทั้งการชมวิดีโอและการเล่นเกมส์แบบสตรีมมิ่ง ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถือเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ความเสถียรในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและความเร็วในการรับส่งข้อมูลลดลง เนื่องจากแพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิงส่วนใหญ่มีอัตราการส่งข้อมูล (bandwidth) ที่ค่อนข้างสูงซึ่งอาจจะรบกวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตประเภทอื่น

Slide2 2

แม้ว่าภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านการรับบริการอินเทอร์เน็ตได้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งช่วยรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นแล้ว แต่อาจต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง และช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ wi-fi สาธารณะ, การผ่อนผันการชำระค่าบริการอินเทอร์เน็ต และการรวบรวมสื่อออนไลน์ทั้งหนังสือพิมพ์และแพลตฟอร์มสื่อการเรียนการสอน

ขณะที่ EIC มองว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะกระตุ้นให้แอปพลิเคชันการสื่อสาร เช่น การประชุมออนไลน์ แพลตฟอร์มเพื่อการบันเทิง รวมถึงการให้บริการออนไลน์ เช่น internet banking, food delivery ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มสร้างพฤติกรรมใหม่ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต

ภาพประกอบข่าว 5 1 scaled

การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสารที่มากขึ้นขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระตุ้นให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรมีการยกระดับการให้บริการสู่การเป็นดิจิทัลโซลูชัน เช่น การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต

ดังนั้น การยกระดับการให้บริการสู่การเป็นดิจิทัลโซลูชันแก่องค์กรธุรกิจควบคู่กับการให้บริการอินเทอร์เน็ตจะสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพ

Avatar photo