Technology

วิศวะ จุฬาฯ ทดสอบ ระบบ ‘รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ’

วิศวะ จุฬาฯ ทดสอบ ระบบ รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ พร้อมต่อยอด เรียกใช้บริการผ่ายแอป เชื่อมต่อการเดินทาง ในอนาคต

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดแพลทฟอร์มวิจัยและทดสอบ ระบบรถรับส่งผู้โดยสาร ไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) โดยนำเทคโนโลยี CAV (Connected and Autonomous Vehicle) มาพัฒนาและทดสอบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก พร้อมเปิดตัว รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ

รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเปิดตัวรถรับส่งผู้โดยสาร ไร้คนขับ ว่า ได้ร่วมกับหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พร้อมตัวแทนจากกรรมการบริหารของคณะฯ  ดำเนินการทดสอบความสามารถของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ ในการตรวจจับวัตถุต่างๆ ขณะขับขี่แบบไร้คนขับ เพื่อนำไปพัฒนาการควบคุมรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในอนาคต

รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ

ต่อเชื่อมการเดินทางกับระบบอื่น

รถประเภทนี้ จะใช้รับส่งผู้โดยสารในช่วงต้นและท้ายของการเดินทาง (First-last mile) โดยเชื่อมต่อกับการเดินทางโหมดอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถเมล์และการเดินทางอื่นๆ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนา และนำรถรับส่งผู้โดยสาร ไร้คนขับ มาให้บริการรับส่ง หรือเปิดให้บริการเรียกผ่านแอปไร้คนขับ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรในอนาคต

เทคโนโลยีรถไร้คนขับ ยานยนต์แห่งอนาคต เป็นหนึ่งใน 4 ส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์สมัยใหม่ ที่ประกอบด้วย C-A-S-E กล่าวคือ Connected, Automated, Shared และ Electric vehicle ซึ่งถ้าเทียบกับส่วนประกอบอื่นแล้ว รถไร้คนขับต้องการความพร้อมและการผนวกรวมในระดับสูงสุด ของทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟ์ทแวร์ และโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารและคมนาคม

รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ

ทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G

ดังนั้น ภายใต้โครงการการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถรับส่งโดยสาร ไร้คนขับนี้  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงมีเป้าประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อมาร่วมวิจัยและทดสอบระบบรถไร้คนขับในระดับต่างๆ

โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. และ กทปส. ซึ่งในจุดเริ่มต้นนี้ ทีมงานของโครงการเกิดจากความร่วมมือของคณาจารย์ภายในคณะวิศวฯ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนมีโอกาสลดลงได้ หากการพัฒนาเทคโนโลยีรถไร้คนขับประสบผลสำเร็จ การจัดทำการทดลองไม่ได้ช่วยแค่ควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่การทดสอบนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยในการเดินทางด้วย

ซึ่งการทดลองนี้อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOB) เป็นศูนย์วิจัยบูรณาการแห่งแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีการศึกษาและพัฒนาด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบความปลอดภัยทางถนน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางขนส่งของสังคมผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556

รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ

มุ่งหวังให้เป็น แพลตฟอร์มกลาง สร้างประโยชน์ให้นักวิจัย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility Research Center) มุ่งหวังให้แพลตฟอร์มรถไร้คนขับที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ เป็นแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้นักวิจัยจากภาควิชาต่างๆ หรือแม้แต่จากคณะต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ อันจะเป็นการขยายผลการทดสอบ use case ของรถไร้คนขับ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ต่อผู้บริโภคและผู้ใช้ท้องถนนในอนาคตต่อไป

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการทดสอบระบบรถไร้คนขับ ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีหลายส่วน ให้สามาถใช้ได้จริงในอนาคต โดยใช้ระบบสื่อสาร 5G มาใช้งานระหว่างรถไร้คนขับกับระบบอื่นๆ ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo