Technology

แนะไทยเตรียมพร้อม 5 ด้าน ก่อนเข้าสู่โลกยุค ‘เมตาเวิร์ส’

สภาพัฒน์ แนะไทยเตรียมพร้อม 5 ด้าน ก่อนเข้าสู่โลกยุค ‘เมตาเวิร์ส’ ทั้งพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และกฎหมาย เพื่อใช้ประโยชน์ในโลกเสมือนอย่างเต็มที่

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า “Metaverse” หรือ เทคโนโลยีโลกเสมือน จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนและสังคมในไม่ช้า และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัล

เมตาเวิร์ส

‘เมตาเวิร์ส’ สร้างประโยชน์ และ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มีการกำหนดเป้าหมาย การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ และการเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ทั้งนี้ Metaverse มีประโยชน์โดยตรงต่ออุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี สินค้าไอทีและ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านนี้  ทั้งยังช่วยยกระดับการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ ที่สามารถต่อยอดจากพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลของไทย ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาในด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว

รวมทั้งสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา ลดอุปสรรคในเรื่องสถานที่และระยะเวลา ช่วยสนับสนุนการสร้างงานและอาชีพใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วย

“ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ กับการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ประชาชน ผู้ประกอบการ และกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการใช้ ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี”

แต่การที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก Metaverse อย่างเต็มที่ในอนาคต ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใน 5 ประเด็น

เมตาเวิร์ส

เร่งพัฒนา 5 ด้าน เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่โลก ‘เมตาเวิร์ส’

1. การส่งเสริมการพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วและต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยยังมีข้อจำกัด การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของ IMD World Digital Competitiveness ranking ในปี 2021 ที่ผ่านมาพบว่าไทยอยู่ที่ 38 จาก 64 ประเทศ

ส่วนองค์ประกอบย่อยด้านการฝึกอบรมและการศึกษา (Training & education) อยู่ในอันดับที่ 56 จาก 64 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ทักษะด้านดิจิทัลของไทยWorld Economic Forum ระบุว่ามีคะแนนทักษะด้านดิจิทัลอยู่เพียง 54.3% อยู่ที่อันดับ 66 จาก 141 ประเทศ

ขณะที่ความต้องการบุคลากร แรงงานด้านดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นอีกมากจากข้อมูลของ Manpower group ปี 2564 คาดว่าในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า ทิศทางความต้องการในสายงานไอที จะยังคงเติบโตเป็นแบบขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สาขา AI และ Data สาขาวิศวกรรมและระบบ Cloud สาขานักพัฒนา Software และ Application ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดการสร้างบุคลากรในสาขานี้มากยิ่งขึ้น

2. สร้างโอกาสการเข้าถึงอย่างครอบคลุม เนื่องจากการเข้าถึงอุปกรณ์ VR หรือ AR มีราคาสูง ทำให้การใช้บริการมีข้อจำกัดสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ส่วนใหญ่ ยังไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมากนักโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งสะท้อนจากการสำรวจธุรกิจ SMEs ในปี 2560 โดยยังพบว่า สัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้คอมพิวเตอร์มีเพียง 29.6% เท่านั้น จึงต้องมีการส่งเสริมให้อุปกรณ์ราคาถูกลง เพื่อการเข้าถึงของทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

3. และความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ต Metaverse มีระบบประมวลผลข้อมูล ขนาดใหญ่เพื่อรองรับภาพ 3 มิติแบบเรียลไทม์ และการปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยผู้ใช้งาน จำนวนมาก ทำให้ต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อตอบสนองได้ทันทีและต่อเนื่อง

แม้ว่าระดับความเร็วของอินเทอร์เน็ตอยู่เป็นอันดับ 2 ของโลก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก nPerf9 พบว่า พื้นที่บริการอินเทอร์เน็ต 5G ของประเทศไทยมีการบริการเพียงบางพื้น ที่ในแต่ละจังหวัดเท่านั้น ซึ่งยังขาดความครอบคลุมและความทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศ

เมตาเวิร์ส

4. กฎหมายที่มีความชัดเจนเพื่อการกำกับดูแล Metaverse โดยกฎหมายควรมีความชัดเจนในกรณีที่เกิดการกระทำผิด โดยกรณีของประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งบังคับใช้ในขอบเขตของประเทศไทยเท่านั้น

นอกจากนี้การทำธุรกรรมบน Metaverse ที่ต้องใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ปัจจุบันไทยยังไม่ได้กำหนดให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระ ค่าสินค้าและบริการได้ ซึ่งจะกระทบต่อการทำธุรกรรมในโลกเสมือน

5. ความปลอดภัยของข้อมูล ความสามารถที่หลากหลายของ Metaverse ทำให้ผู้ใช้บริการจำเป็นต้อง มีการป้องกันที่รัดกุม และต้องระมัดระวังการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล การตกเป็นเหยื่อ การแอบอ้างหรือสร้างตัวตนปลอมเพื่อพูดคุยปฏิสัมพันธ์ การสะกดรอยตาม และกลั่นแกล้งทางออนไลน์ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ในด้านต่าง ๆ ซึ่งการยืนยันตัวตนจากผู้ใช้อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ

นางสาวจินางค์กูร กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Metaverse ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความพร้อม สามารถสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับปัจเจก หน่วยงาน และประเทศได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo