Technology

‘ไมโครซอฟท์’ ทุ่ม 2.2 ล้านล้านบาท ซื้อ ‘แอคติวิชัน บลิซซาร์ด’ ผงาดเทียบชั้น ‘เทนเซ็นต์-โซนี่’

ไมโครซอฟท์ วางเดิมพันตลาด “เมตาเวิร์ส” ทุ่มเงินกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซื้อกิจการ “แอคติวิชัน บลิซซาร์ด” ผู้พัฒนาเกมแถวหน้า ถือเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเกมโลก 

ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสหรัฐ “ไมโครซอฟท์ คอร์ป” แถลงเมื่อวันอังคาร (18 ม.ค.)ว่า บรรลุข้อตกลงมูลค่า 68,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.28 ล้านล้านบาท เข้าซื้อกิจการ “แอคติวิชัน บลิซซาร์ด” ผู้พัฒนาเกมชั้นนำ ที่มีเกมยอดนิยมในมืออย่าง “Call of Duty” และ “Candy Crush” ถือเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่สุด และเป็นการเข้าซื้อกิจการด้วยเงินสดขนาดใหญ่สุดของบริษัทด้วย

ไมโครซอฟท์

การเคลื่อนไหวนี้ ยังจะช่วยหนุนให้ไมโครซอฟท์ กลายเป็นบริษัทเกมรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในแง่รายได้ รองจาก “เทนเซ็นต์” จากจีน และ “โซนี่” ของญี่ปุ่น  โดยการซื้อกิจการนี้ครอบคลุมเกมดังมากมาย

วางรากฐานไมโครซอฟท์ รับเมตาเวิร์ส

นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเข้ามาช่วยผลักดันธุรกิจเกมมือถือ พีซี คอนโซล และคลาวด์ของไมโครซอฟท์ให้เติบโต และวางรากฐานให้สอดรับกับยุคเมตาเวิร์สด้วย

หากข้อเสนอซื้อกิจการครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ก็อาจกลายเป็นการควบรวมบริษัทเทคโนโลยี ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากที่บริษัทคอมพิวเตอร์ เดลล์ เคยซื้อกิจการของบริษัทจัดเก็บข้อมูล EMC ด้วยวงเงิน 60,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2559

ภายใต้ข้อตกลงนี้ นายบอบบี้ โกทิค ซีอีโอแอคติวิชัน บลิซซาร์ด จะยังคงนั่งในตำแหน่งเดิมต่อไป โดยจะมุ่งเน้นที่การขยายตลาดวิดีโอเกม และรักษาจุดแข็งของบริษัทเอาไว้

หลังข่าวการควบรวมกิจการครั้งนี้ ราคาหุ้นของแอคติวิชัน บลิซซาร์ด พุ่งขึ้นทันที 27% ในช่วงเปิดตลาดวันอังคาร ขณะที่ราคาหุ้นของไมโครซอฟท์ ปรับตัวลดลงเกือบ 1%

ไมโครซอฟท์

เมื่อปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์เพิ่งลงทุน 7,500 ล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการของเซนิแมกซ์ มีเดีย เจ้าของบริษัทเบเดสดา ซอฟต์เวิร์คส ผู้สร้างวิดีโอเกมชื่อดังอย่างเช่น The Elder Scrolls, Doom และ Fallout ซึ่งไมโครซอฟท์เชื่อว่า จะช่วยกระตุ้นยอดสมัครสมาชิก Xbox Game Pass ของบริษัทได้

อย่างไรก็ดี การเข้าเป็นเจ้าของกิจการ แอคติวิชัน บลิซซาร์ด นั้น ไมโครซอฟท์ ยังต้องรับมือกับเรื่องฟ้องร้องทางกฏหมายที่ยังค้างคาอยู่ด้วย

เมื่อปีที่แล้ว แอคติวิชัน บลิซซาร์ด ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ จากข้อกล่าวหาว่า มีการประพฤติมิชอบและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

ในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐแคลิฟอร์เนียยังยื่นฟ้องบริษัทเกมรายนี้ว่า เป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมแบบ “ชายล้วน” ที่นำไปสู่การก่อกวน รังควาน และเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างสตรี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo