Technology

โดรนรับมือไฟป่า นวัตกรรม ‘AI+IoT’ ช่วยปฏิบัติการ ‘เร็ว-แม่นยำ’

ไฟป่า นับเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งการตรวจสอบและเข้าถึงพื้นที่เกิดไฟป่าค่อนข้างยุ่งยาก แต่การใช้เทคโนโลยี โดรนรับมือไฟป่า เข้ามาช่วยทำให้รับมือกับสถานการณ์ได้เร็วยิ่งขึ้น

Skyller หนึ่งในหน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV บริษัทในเครือบริษัท ปตท. สผ. จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ได้พัฒนาโดรนดับเพลิงพร้อมระบบ AI มาใช้ร่วมกับ Sensor IoT จาก AIS เพื่อสามารถตรวจสอบและรับมือกับไฟป่าได้อย่างทันท่วงที

โดรนรับมือไฟป่า

Skyller ผู้นำด้านการตรวจสอบอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้วย “โดรน” และระบบ AI ได้ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ทดสอบการใช้งานระบบ Sensor IoT

โดรนรับมือไฟป่า เป็นการโดรนดับเพลิงพร้อมระบบ AI ในการตรวจจับและรับมือไฟป่า

AIS ได้ลงมือศึกษาหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ให้รับมือไฟป่าได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาการตรวจจับการเกิดไฟป่าให้ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทางทีม AIS NEXT ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมของเอไอเอส ได้พัฒนาระบบ Sensor IoT ด้วยระบบ Sensor IoT ติดตั้งกระจายตามจุดเสี่ยงที่เกิดไฟป่าเป็นประจำ เพื่อตรวจจับสัญญาณควัน ความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และส่งสัญญาณแจ้งเตือนถึงเจ้าหน้าที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที

ระบบนี้ นับว่ารวดเร็วกว่าปกติต้องใช้เวลา 3 – 6 ชม. กว่าจะทราบการเกิดไฟป่าและแหล่งที่เกิดได้ ทำให้การจัดการเรื่องไฟป่าเป็นไปอย่างล่าช้า และก่อให้เกิดปัญหาเรื่องหมอกควัน PM 2.5 ตามมา บางครั้งไฟก็ลุกลามขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง  โดยที่ไม่อาจควบคุมได้ หากรู้แหล่งไฟป่าเร็ว ก็สามารถจัดการได้เร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดกำลังคนและวางแผนปฏิบัติการดับไฟป่าได้ทันท่วงที

การทำงานของโดรนดับเพลิงจาก Skyller ผสานกับ Sensor IoT จาก AIS ทำให้รับมือไฟป่าได้เร็วกว่าเดิม

Skyller ได้พัฒนาโดรนขึ้นมาเป็นพิเศษ ที่สามารถตรวจจับจุดความร้อน (Hot Spot) ได้แม่นยำ และบินร่วมกันเป็นฝูง (Swarm Drone) เพื่อปล่อยลูกบอลดับเพลิงลงจุดที่เกิดไฟป่า ช่วยลดความรุนแรงของไฟได้ อีกทั้งยังสามารถทำแนวป้องกันไฟ เพื่อไม่ให้ไฟป่าลุกลาม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งระบบอัตโนมัติให้ทำงานครบวงจร ผ่านแพลตฟอร์ม Skyller เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบดูข้อมูลจากโดรนได้ว่า ปัญหาที่พบนั้นจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร โดยนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนและวิเคราะห์ เช่น เกิดปัญหาไฟป่าที่บริเวณไหน จุดเกิดเหตุอยู่ตรงไหน มีอาณาเขตกว้างใหญ่เพียงใด เพื่อจะตีกรอบในการสร้างแนวกันไฟเพื่อใช้ดับเพลิง รวมถึงวางแผนการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การส่งโดรนดับเพลิงเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อระงับไฟป่า หรือ สร้างแนวกันไฟได้

จากนวัตกรรมของ Skyller และ AIS ช่วยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หน่วยกู้ภัย เฝ้าระวังในการรับมือ และวางแผนจัดการปฏิบัติภารกิจเมื่อเกิดไฟป่าได้ และจะช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ไฟป่า หากมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปขยายผลในวงกว้างตามจุดที่เกิดไฟป่าซ้ำเป็นประจำทุกปี

ปัญหาไฟป่า นับว่าความเสียหายให้กับพื้นที่ป่าของประเทศ และเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือของไทย ที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง เป็นเหตุให้เกิดประกายไฟและการลุกลามของไฟป่าได้ง่าย ยังรวมถึงกิจกรรมของคนในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดไฟลุกลามอยู่บ่อยครั้ง เช่น การจุดไฟเผาพื้นที่ให้โล่งเพื่อเดินทางเข้าไปเก็บของป่า การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว

จากสถิติปี 2564 มีพื้นที่ป่าถูกไฟป่าไหม้ทั่วประเทศ รวม 100,772.92 ไร่ โดยพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 84,417.69 ไร่ รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10,514.23 ไร่ ภาคกลางและตะวันออก 5,258.50 ไร่ และ ภาคใต้ 582.50 ไร่

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละปี พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายจากไฟป่าจำนวนมาก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในพื้นที่  รวมถึงส่งผลให้เกิดหมอกควัน และมลพิษทางอากาศ  PM 2.5 ที่รุนแรงเป็นประจำในช่วงปลายปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะต่อสุขภาพ

การทดสอบครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีให้ระบบ IoT และโดรนดับเพลิงพร้อมระบบ AI เข้ามาช่วยจัดการดับเพลิงเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ไฟป่าลุกลาม

Swarm FENIX

นอกจาก ฝูงโดรนปล่อยลูกบอลดับเพลิง ทาง Skyller ยังพัฒนาโดรนดับเพลิงที่สามารถเอาสายของอุปกรณ์ดับเพลิงทั่วไปจากรถดับเพลิงมาต่อเชื่อมแล้ว สามารถยิงน้ำหรือโฟมดับเพลิงไปเฉพาะจุดในอาคารสูงได้อีกด้วย เพื่อฉีดน้ำเข้าไปดับไฟในบริเวณอาคารสูง ซึ่งปกติต้องใช้แหล่งฉีดน้ำแรงดันสูงมากเพื่อฉีดขึ้นไปให้ถึงจุดเกิดเหตุ และการส่งคนเข้าไปในอาคารที่เกิดเหตุไฟไหม้ ซึ่งเสี่ยงอันตรายจากไฟไหม้ และตึกถล่ม

การใช้เทคโนโลยีโดรนดับเพลิงในอาคารหรือโกดังขนาดใหญ่ที่ต้องการความรวดเร็วในการเข้าถึงและบางพื้นที่มีอุปสรรคเข้าถึงได้ยาก โดย Skyller หวังว่าการใช้เทคโนโลยีในการรับมือและแก้ปัญหาภัยพิบัติได้อย่างครอบคลุม ด้วยแพลตฟอร์มของ Skyller โดรนสามารถถ่ายภาพเพื่อเก็บข้อมูล จัดทำแผนที่ 3 มิติ เพื่อนำมาประมวลผลในการจัดการเฝ้าระวัง และแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

DJI 0124

จากการทดสอบร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีของ Skyller และ AIS นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาในวงกว้าง ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ รวมถึงตึกสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงงาน โรงแรม อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ บ้านเรือนประชาชน ให้ได้รับความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สิน

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้าเว็บไซต์ www.skyller.co

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo