Technology

จากข้อมูลรั่วเฟซบุ๊ก สู่ ‘ยุคแห่งการสอดแนม’

ยุคแห่งการสอดแนม

อาจกล่าวได้ว่า เราอยู่ในยุคที่การเปิดเผยข้อมูลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเทคโนโลยีเครือข่ายทำได้สะดวกมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดเผยบนเวที TED ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถบอกได้ว่าเรามีสภาพอารมณ์เป็นอย่างไร หรือสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดีไหม ฯลฯ จากการประเมินข้อมูลที่ร่างกายส่งออกมา เช่น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ

ด้านรัฐบาลสุดไฮเทคจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ก็กำลังจะนำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า (Facial Recognition) เข้ามาปรับใช้กับประชาชนในประเทศแล้วเช่นกัน โดยแผนของสิงคโปร์คือการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากกว่า 100,000 ตัวบนเสาไฟ และเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่พนักงานสามารถจับตาผู้คนที่สัญจรไปมาในประเทศได้อย่างลึกซึ้งภายใต้ชื่อ “Lamppost-as-a-Platform” หรือ LaaP

รายงานจากรอยเตอร์เผยว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะเริ่มการติดตั้งดังกล่าวในปีหน้า (2562) โดยในระหว่างนี้ – พฤษภาคม รัฐบาลเปิดให้บริษัทต่าง ๆ ที่สนใจนำเทคโนโลยีของตนเองมาเสนอลงทะเบียนอยู่

“ในการทดสอบ LaaP เรามีการทดสอบเซนเซอร์จำนวนมากกับเสาไฟ รวมถึงกล้องที่สามารถรองรับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ใบหน้าได้” โฆษกรัฐบาลสิงคโปร์กล่าว “ความสามารถนี้ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ฝูงชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยในการสืบสวนในกรณีที่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น”

สิงคโปร์ยังเผยด้วยว่า แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น Smart Nation ที่รัฐบาลต้องการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชากรในประเทศ และต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการติดกล้องสอดแนมเป็นสิ่งที่พบได้มากขึ้นตามประเทศยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา พร้อม ๆ กับการเกิดเสียงเรียกร้องจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนในเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งในจุดนี้ นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์กล่าวว่า ไม่ต้องการให้การติดกล้องวงจรปิดไปละเมิดในจุดนั้น ซึ่งเป็นเรื่องผิดจริยธรรม แต่หวังว่าการใช้กล้อง และเซนเซอร์ต่าง ๆ บนเสาไฟริมถนนจะเป็นไปเพื่อประชาชนในประเทศ เช่น ใช้วัดคุณภาพอากาศ, ใช้วัดระดับน้ำ, ใช้นับจำนวนมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน หรือใช้วัดความพลุกพล่านของประชาชนในย่านต่าง ๆ เพื่อช่วยในการวางแผนการเดินทาง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แผนการก้าวสู่ Smart Nation ของสิงคโปร์อาจเป็นสิ่งเย้ายวนสำหรับบริษัทจากต่างแดน เช่น บริษัท Yitu Technology ที่ข้ามน้ำจากจีนแผ่นดินใหญ่มาเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของตนเองว่า สามารถวิเคราะห์ตัวตนบุคคลได้มากกว่า 1.8 พันล้านคนในเวลาไม่ถึง 3 วินาทีให้กับสิงคโปร์ที่มีประชากร 5.6 ล้านคนแล้ว
หรือหากเป็นบริษัทในประเทศเอง ก็มี Xjera Labs ที่เสนอตัว

แต่หากพิจารณาถึงบุคลิกเฉพาะตัวของสิงคโปร์ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า อัตราการก่อเหตุอาชญากรรมในสิงคโปร์นั้นต่ำมาก นั่นคือ ต่างจากลอนดอนที่มีเหตุก่อการร้ายบ่อยครั้ง การลงทุนในระดับดังกล่าวจึงอาจมากเกินไปสำหรับประเทศนี้ก็เป็นได้

Avatar photo