Technology

ม.หอการค้าไทย ปรับสู่ ‘ห้องเรียนไฮบริด’ ตอบโจทย์การศึกษา 4.0 

ARR 4500

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) จับมือกับซิสโก้ เปิดตัวห้องเรียนไฮบริด ช่วยให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถสื่อสารระหว่างกันได้แบบไร้สาย ผ่านไวท์บอร์ด และใส่ความเห็นหรือคำอธิบายประกอบได้อย่างเรียลไทม์ รวมถึงสามารถจัดการประชุมผ่านวิดีโอและเสียงได้

แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์บุคลากรเกือบ 20,000 คน (นักศึกษากว่า 18,000 คน อาจารย์และเจ้าหน้าที่ประมาณ 1,000 คน ใน 10 คณะ และ 3 วิทยาลัย) เพื่อให้ทุกคนสามารถประชุม สร้างคอนเทนต์ ติดต่อสื่อสาร และแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียนได้ทุกเวลาบนทุกอุปกรณ์อย่างไม่จำกัด

นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังได้ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานไร้สายและ Cisco Connected Mobile Experience (CMX) โดยประกอบด้วยแอ็คเซสพอยต์ 800 เครื่อง รองรับการใช้งานพร้อมกันได้มากกว่า 15,000 อุปกรณ์ ช่วยจัดการทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตภายในมหาวิทยาลัยด้วย

จากระบบดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังได้พัฒนาโมบายล์แอพ USpark สำหรับนักศึกษา ส่งผลให้ มหาวิทยาลัยส่งข้อความในเรื่องที่นักศึกษาแต่ละคนสนใจได้แบบ Personalized  และนักศึกษาสามารถใช้แอพดังกล่าวเพื่อเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เช่น เนื้อหาหลักสูตร บทเรียน งานวิจัย และสามารถทำข้อสอบผ่านอุปกรณ์ iPad  ได้ด้วย

นายปรเมศ ส่งแสงเติม รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาและอาจารย์มีประสบการณ์การเรียนรู้ผสมผสานผ่านดิจิทัลและกายภาพอย่างราบรื่นและสมบูรณ์ ด้วยเครือข่ายของซิสโก้ ช่วยให้อาจารย์ นักศึกษา และพนักงานของมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกันและแชร์ทรัพยากร (resource) กันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด”

ด้านนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้ กล่าวว่า “สถาบันการศึกษาเริ่มตระหนักว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการทำให้การเรียนรู้เข้าถึงได้ง่ายและมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้นักศึกษาและอาจารย์สามารถเชื่อมต่อถึงกัน รองรับการทำงานเป็นกลุ่ม การเรียนการสอนทางออนไลน์ หรือการประชุมร่วมกันเฉพาะกิจตามความสะดวกของแต่ละคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือใช้อุปกรณ์ใดก็ตาม และการเปลี่ยนผ่านการเรียนการสอน จะเป็นการยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้แบบดิจิทัลในประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง”

Avatar photo