Technology

บริษัทฮ่องกงดัน ‘หุ่นยนต์คล้ายคน’ ช่วยรับมือโลกยุค ‘โควิด’ ระบาด

“แฮนสัน โรโบติคส์” (Hanson Robotics) ประกาศแผนผลิตหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ (humanoid robot) เชิงพาณิชย์ หลายพันตัว ภายในปี 2564

นายเดวิด แฮนสัน ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ แฮนสัน โรโบติคส์ บริษัทหุ่นยนต์ ที่มีฐานการดำเนินงานอยู่ในฮ่องกงรายนี้ ระบุว่า การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ และมีปฏิสัมพันธ์กับคน มีเพิ่มขึ้น

“โลกของโควิด-19 กำลังทำให้มีความต้องการระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้ผู้คนปลอดภัย”

sophia

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มการผลิต โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จะมีหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ 4 รุ่น ออกมาจากโรงงานของแฮนสัน โรโบติคส์ โดย 1 ในจำนวนนี้ จะเป็นหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า “โซเฟีย” ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทั่วโลก และมีความสามารถพูดได้เหมือนกับคนอย่างมาก

นายแฮนสัน บอกด้วยว่า ที่ผ่านมา หุ่นยนต์ส่วนใหญ่ของบริษัทจะทำด้วยมือ แต่ในตอนนี้ แฮนสัน โรโบติคส์ กำลังเริ่มขยายสายการผลิตแล้ว

สำหรับโซเฟียนั้น ในขณะนี้ มีรุ่นย่อยแยกออกไปแล้ว 24 รุ่นด้วยกัน ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐาน ในการสร้างแบบจำลองประเภทอื่น ๆ และแม้จะไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน แต่นายแฮนสัน กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้า ที่จะขายหุ่นยนต์หลายพันตัว ภายในสิ้นปี 2564

แฮนสัน โรโบติคส์ วางแผนโฆษณาสำหรับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ว่า เป็นผู้ช่วยที่มีประโยชน์ในด้านการดูแลสุขภาพ ตัวอย่างเช่น สามารถวัดอุณหภูมิ เพื่อระบุชี้อาการเจ็บป่วย หรือออกกำลังกายร่วมกับผู้สูงอายุ เป็นต้น

“หุ่นยนต์ทางสังคม” ดังกล่าว ขับเคลื่อนโดยวิธีการเรียนรู้ของเครื่อง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะใช้กล้อง และเซ็นเซอร์ เพื่อจดจำใบหน้า และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเครื่องมือ ที่ช่วยให้สามารถพัฒนารูปแบบไหวพริบทางสังคม และอารมณ์ต่อไปได้

ระหว่างการสาธิตที่ห้องทดลองของบริษัท หุ่นยนต์โซเฟียรุ่นหนึ่ง ได้แนะนำตัวเอง ถึงความสามารถที่อาจช่วยเหลือมนุษย์ได้

“หุ่นยนต์ทางสังคมแบบฉัน สามารถช่วยดูแลคนป่วย หรือผู้สูงวัย ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และการใช้ยาได้”

นายแฮนสัน ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า การนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับโรคระบาดใหญ่นี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพเท่านั้น โดยหุ่นยนต์ของบริษัทเขานั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับคนอย่างมาก ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้ในภาคค้าปลีก หรืออุตสาหกรรมสายการบินด้วย

“หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์นี้ มีประโยชน์อย่างมาก ในช่วงเวลาเช่นนี้ ที่ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างมาก และต้องแยกตัวออกจากสังคม”

ทางด้านนายโยฮัน ฮูร์น ศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์ทางสังคม จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค ฮ่องกง หนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมพัฒนาโซเฟีย กล่าวว่า แม้ว่าเทคโนโลยี AI จะยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่การเกิดโรคระบาดใหญ่อาจเป็นตัวเร่งความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ และมนุษย์ก็เป็นได้

han
เดวิด แฮนสัน

นอกจากแฮนสัน โรโบติคส์แล้ว ผลิตภัณฑ์จากบริษัทใหญ่รายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ก็สามารถช่วยต่อสู้กับโรคระบาดได้เช่นกัน  เช่น “เพพเพอร์”  (Pepper) หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ของ “ซอฟท์แบงก์ โรโบติคส์” ถูกนำไปใช้ในยุโรป เพื่อระบุชี้ตัวบุคคลที่ไม่ได้สวมหน้ากาก

ส่วนในจีน บริษัทหุ่นยนต์ “คลาวด์มายด์ส” (CloudMinds) ได้ช่วยจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่ใช้หุ่นยนต์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น

ทั้งนี้ อัตราการใช้หุ่นยนต์นั้นได้เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดแล้ว โดยองค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ International Federation of Robotics กล่าวในรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ยอดขายหุ่นยนต์บริการระดับมืออาชีพทั่วโลกเพิ่มขึ้น 32% ระหว่างปี 2561-2562

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo