Technology

เปิดเทรนด์ อนาคต ‘ธุรกิจคลาวด์’ เมื่อโลกเข้าสู่ยุค ‘คลาวด์ อีโคโนมี’

อนาคต ธุรกิจคลาวด์ เมื่อโลกเข้าสู่ยุค คลาวด์ อีโคโนมี โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งองค์กรปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคโควิดที่ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้องค์กรทั่วโลก ต้องปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การตัดสินใจและการลงมือปฏิบัติงานต้องเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ จนทำให้ เทคโนโลยีคลาวด์ กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สิ่งน่าจับตานับจากนี้ คือ อนาคต ธุรกิจคลาวด์ ที่จะเปลี่ยนแปลงไป

อนาคต ธุรกิจคลาวด์

นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้บริหาร บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย หรือ HPE กล่าวว่า เทคโนโลยีคลาวด์ในอนาคต จะเป็นไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud) และไปสู่ ดิสตริบิวท์ คลาวด์ (Distributed Cloud) โดย ไอดีซีคาดการณ์ว่าตลาดไฮบริด คลาวด์ จะมีมูลค่าถึง 22,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566

การเติบโตอย่างโดดเด่น ของไฮบริดคลาวด์ ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ โซลูชันแบบ Distributed Cloud ซึ่งช่วยให้องค์กร สามารถบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่อยู่ในหลากหลายพื้นที่ ได้ด้วยวิธีการที่สะดวก ยืดหยุ่น และกระชับฉับไว ซึ่งนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในยุคที่องค์กรมีการใช้งานคลาวด์ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริการคลาวด์ มักมาพร้อมกับการให้บริการแบบ As-a-Service และการคิดค่าใช้จ่าย ตามการใช้งานจริง (pay-per-use) ซึ่งเปิดให้องค์กร เข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด พร้อมปรับเพิ่ม หรือลดการใช้งานได้ตามความต้องการ ช่วยลดความเสี่ยง จากการลงทุนเพื่อติดตั้ง ก่อนการใช้งาน และเพิ่มความยืดหยุ่นด้านการเงิน สำหรับการสร้างสรรค์โครงการใหม่ ๆ อีกด้วย

นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์
พลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์

โมเดลดังกล่าว จึงตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น ธุรกิจร้านอาหารเชน ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านเงินทุน อีกทั้งยังต้องการความรวดเร็วในการติดตั้งระบบและเริ่มใช้งาน

ขณะที่ผลวิจัยโดย MarketsandMarkets ยังคาดการณ์ว่า การใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ ในธุรกิจการเงิน ในปี 2564 จะเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงถึง 24.4% และมีมูลค่าตลาด 29,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสาเหตุหลัก ๆ เป็นเพราะ กฎระเบียบข้อบังคับด้านข้อมูล ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลยังควรต้องจัดเก็บ ในที่ที่จะนำไปใช้งานได้ง่าย ภายในเครือข่ายของธนาคาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อมีการใช้งาน ไฮบริด คลาวด์ การมองเห็นภาพรวมของการใช้งาน และค่าใช้จ่าย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่บุคลากรด้านไอทีต้องการ คือ ประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย สะดวก และระบบที่เอื้อให้บริหารจัดการเวิร์คโหลดได้ ทั้งบนไพรเวทคลาวด์ และพับลิกคลาวด์

คลาวด์

ด้าน สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงิน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มองถึงอนาคตของการใช้งานคลาวด์ว่า คลาวด์ จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ในภาคธุรกิจการเงิน เพราะเทคโนโลยีคลาวด์ ได้เข้ามาเพิ่มมิติใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการด้านการเงิน พร้อมเปิดประตูให้เงินลงทุนของบริษัท สร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น อย่างมหาศาล

ภาพที่จะเกิดขึ้นคือ การลงทุนขององค์กรจะเปลี่ยนไป จาก CAPEX หรือ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เปลี่ยนไปสู่ OPEX หรือเม็ดเงินที่หมุนเวียนให้เกิดผลในการทำงานจริง แบบวันต่อวัน แทน ซึ่่งจะเป็นการลดเงินลงทุนก้อนใหญ่ และยังช่วยเพิ่มความคล่องตัว และการเติบโต

สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์ 1
สุภาณี อนุวงศ์วรเวทย์

การเปลี่ยนจาก CAPEX สู่ OPEX  จะทำให้เกิดเป็นมุมมองใหม่ทางเศรษฐกิจ และการลงทุน ที่เรียกได้ว่า “Cloud Economy” หรือ “เศรษฐกิจแบบคลาวด์” โดยหากองค์กรหันมาใช้คลาวด์ จะลดภาระในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางไอที ไปอย่างมหาศาล เหลือเพียงแค่ค่าใช้บริการ ที่ชำระตามปริมาณการใช้งานจริง

นอกจากจะเพิ่มความยืดหยุ่น ในการคุมรายจ่ายแล้ว คลาวด์ยังเปิดประตูให้ทุกองค์กร สามารถใช้ข้อมูลทางการเงินให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

อย่างในกรณีของธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งรายหนึ่ง ที่นำข้อมูลยอดขายอาหารสด มาวิเคราะห์ จนตีโจทย์แตกว่าธุรกิจกลุ่มร้านหมูกระทะ นับเป็นฐานลูกค้ารายใหญ่ ในแผนกนี้ จึงปรับกลยุทธ์การสต็อก และจัดแสดงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งก็ช่วยให้ยอดขายสูงขึ้นตามไปด้วย

อนาคต ธุรกิจคลาวด์

ด้วยแนวคิดนี้ ข้อมูลทางการเงินของบริษัท จึงมีคุณค่ามากกว่าแค่การบันทึกว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในองค์กร  เปิดโอกาสให้ได้วิเคราะห์หาเหตุผลเบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไปจนถึงคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแนะแนวทางว่า ควรปรับตัวอย่างไร ให้รับมือกับอนาคตนั้นได้ดีที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo