Technology

มูลค่าการใช้จ่ายไอที ทั่วโลกปีนี้พุ่ง 6.2% ไทยโต 5% เทคโนโลยีลดผลกระทบโควิด

มูลค่าการใช้จ่ายไอที ทั่วโลกปี 64 โตพุ่ง 6.2% ขณะที่ไทยคาดใช้จ่ายเพิ่ม 5% การ์ทเนอร์ ชี้ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงทุนไอทีลดผลกระทบโควิด

นายจอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า กระแสการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดผลกระทบเชิงลบของโควิด โดยปี 2564 นี้ การ์ทเนอร์ คาดการณ์แนวโน้ม มูลค่าการใช้จ่ายไอที ทั่วโลก จะมีมูลค่า 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จากเดิมที่ติดลบ 3.2% ในปี 2563

technologysocial media ๒๑๐๑๒๖ 1

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ (CIO) ให้ความสำคัญ กับการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี และบริการต่าง ๆ และถือเป็น “ภารกิจสำคัญสุด” ในช่วงการระบาดระยะต้น ๆ

นอกจากนี้ การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาเพื่อใช้ทำงาน และการเรียนจากระยะไกล ได้สร้างปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปี 2563 รวมถึงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ช่วงล็อกดาวน์ และมาตรการเว้นระยะห่าง ที่เปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งยังเป็นปัจจัยช่วยลดผลกระทบเชิงลบ ของโรคระบาดนี้ ต่อการใช้จ่ายด้านไอทีช่วงปีใหม่

สำหรับสิ่งที่ซีไอโอ ในปี 2564 จะมีมาตรการที่มีดุลยภาพต่อกัน คือ การเก็บเงินสด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องขยายระบบไอที และเมื่อเศรษฐกิจกลับคืนสู่สภาวะปกติ ธุรกิจก็จะมุ่งลงทุนกับไอที ตามแผนเพื่อสร้างการเติบโต ไม่ใช่เป็นการลงทุนตามรายได้ ณ ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังคาดว่า การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทุกเซกเมนต์ จะกลับมาเติบโตในปี 2564 โดยเฉพาะ ซอฟต์แวร์ระดับองค์กร จะเติบโตสูงสุด ที่ 8.8% จากการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานระยะไกล โดยกลุ่มอุปกรณ์ดีไวซ์ จะมีอัตราการเติบโตรองลงมาที่ 8% โดยมีมูลค่าถึง 705.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายเลิฟล็อคกล่าวว่า การที่ประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้รูปแบบการศึกษาจากระยะไกล ต่อเนื่องตลอดปีนี้ จะส่งผลให้ความต้องการ แท็บเล็ต และแล็ปท็อป ของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับที่หลายองค์กร กำลังดำเนินการ ให้การทำงานระยะไกลของพนักงานเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น โดยที่มาตรการกักตัวอยู่บ้าน รวมถึงปัจจัยด้านเสถียรภาพของงบประมาณ ช่วยให้ซีไอโอได้กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบเมื่อปี 2563 อีกครั้ง

ไอที1

ขณะเดียวกัน ยังคาดว่า จนถึงปี 2567 ธุรกิจต่าง ๆ จะถูกบังคับให้เร่งแผนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ไปสู่ดิจิทัล อย่างน้อยห้าปี เพื่อเอาตัวให้รอดในโลกหลังโควิด -19 โดยการทำงานระยะไกล และช่องทางสื่อสารดิจิทัล จะได้รับการยอมรับ และนำมาใช้อย่างถาวร

ทั้งนี้ การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลก ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระยะไกล จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 332.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 4.9% จากปี 2563

“ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปี 2564 ธุรกิจดิจิทัล นำเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ต่าง ๆ มาปรับใช้ได้อย่างโดดเด่น อาทิ การประมวลผลผ่านคลาวด์, การใช้แอปพลิเคชันทางธุรกิจ, เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและเพิ่มประสบการณ์ลูกค้าระดับแถวหน้า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ เช่น ระบบไฮเปอร์ออโตเมชั่น” นายเลิฟล็อคกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้กับประชาชนแล้ว แต่ไวรัสนี้ยังคงแทรกแซงเสถียรภาพรัฐบาลต่าง ๆ ตลอดปี 2564 โดยมีปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (หรือ Brexit) และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ – จีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยยับยั้งการฟื้นตัวในบางภูมิภาค

ขณะที่ภาพรวมการฟื้นตัวของตลาดไอทีระดับโลก จะยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2565 แม้หลายประเทศอาจจะฟื้นตัวเร็วกว่า แต่ในระยะยาวอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรวมผู้คน อาทิ ร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ การเดินทางท่องเที่ยว และความบันเทิงจะยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ

วิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนความสามารถทางเทคโนโลยี หรือที่การ์ทเนอร์เรียกว่า techquilibrium ให้กับหลายอุตสาหกรรม โดยยกระดับความสามารถของกระบวนการไปสู่ ธุรกิจดิจิทัล ภายในองค์กร, ห่วงโซ่อุปทาน, การโต้ตอบกับลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงการส่งมอบบริการที่กำลังมาในปี 2564 ให้ดียิ่งขึ้น และเปลี่ยนบทบาทไอทีจากการสนับสนุนธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจ

ในส่วนของประเทศไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอที ในปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้น 5% โดยซอฟท์แวร์ระดับองค์กร จะเติบโตสูงสุดที่ 13.6% ตามด้วย ดาต้า เซ็นเตอร์ เติบโต 10.9% อุปกรณ์ดีไวซ์ 9.5% บริการด้านการสื่อสาร เติบโต 2.8% ขณะที่บริการด้านไอที ติดลบ 2%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo