Technology

เทคโนโลยีทำเงิน ไทยโกยรายได้ ‘รักษาผู้มีบุตรยาก’ กว่า 4,500 ล้านบาท

เทคโนโลยีทำเงิน สบส. เผยไทยโกยรายได้ จากการรักษาผู้มีบุตรยากกว่า 4,500 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาสถานพยาบาล 102 แห่งทั่วประเทศ

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า    ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ส่งผลให้ เทคโนโลยีทำเงิน โดยจากการสำรวจเชิงสถิติของกรม สบส. พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทย สร้างรายได้จากเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์กว่า 4,500 ล้านบาท

เทคโนโลยีทำเงิน

ปัจจุบัน หลายประเทศมีอัตราการเจริญพันธุ์ หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตร ของผู้หญิง ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเอง ก็เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยพบว่า สถิติทางสาธารณสุขของอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate – TFR) ของประเทศไทยลดลง เหลือเพียง 1.5 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ในอนาคต ประเทศไทยจะประสบกับปัญหา การขาดแคลนแรงงาน จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คู่สมรสหลายคู่ ต้องหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีทางการแพทย์

สำหรับประเทศไทย ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นอันดับต้น ๆของโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ของประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ที่ผ่านมา กรม สบส. เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงานตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาศักยภาพสถานพยาบาล ที่ให้บริการ รักษาผู้มีบุตรยาก อย่างต่อเนื่อง

จนถึงขณะนี้ มีสถานพยาบาล ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน การให้บริการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งสิ้น 102 แห่ง มีอัตราความสำเร็จ ในการให้บริการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ย สูงถึงร้อยละ 46 มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา และอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกกันว่าอุ้มบุญ แล้วกว่า 400 ราย

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

ข้อมูลดังกล่าว ถือเป็นหลักฐานของความสำเร็จ และยืนยันให้เกิดความเชื่อมั่นแก่คู่สมรสว่า การรับบริการเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จากสถานพยาบาลไทย จะช่วยให้คู่สมรส สามารถมีบุตรได้ตามที่หวัง ช่วยลดปัญหาอัตราเกิดที่ลดลง รองรับการก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ในอนาคต

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า นอกจาก ความก้าวหน้าของวิทยาการแล้ว อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ คือ การมีกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิด โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558”

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว จะควบคุม กำกับการใช้เทคโนโลยีฯ ให้มีความถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐาน มีการกำหนดสิทธิ์ และคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีฯ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัย เพื่อพัฒนามาตรฐานการบริการให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำผิด ก็จะมีบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน เช่น

  • หากผู้ใดรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
  • ซื้อ-ขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • นายหน้าชี้ช่องทางให้มีการรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน กรม สบส. อยู่ระหว่างทบทวนปรับแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำรายได้เข้าสู่ประเทศไปไทย และเพิ่มการเข้าถึงบริการในการ รักษาผู้มีบุตรยาก ต่อไป

หากสถานพยาบาล สนใจขอรับรองมาตรฐาน หรือประชาชนสนใจสอบถามข้อมูล สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มคุ้มครองเด็กที่เกิด โดยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18418-18419

พร้อมกันนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาล ที่ผ่านการรับรอง มาตรฐานการให้บริการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ได้จากเว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ  https://mrd-hss.moph.go.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo