Technology

เฟซบุ๊กยอมรับสแกนข้อความ-ภาพถ่ายผ่าน ‘แมสเซนเจอร์’

fb scan messenger

นอกจากจะสร้างกรณีอื้อฉาวจากการปล่อยให้ข้อมูลถูกดูดออกจากแพลตฟอร์มได้อย่างไร้ความรัดกุมแล้ว ล่าสุด การให้สัมภาษณ์ของซีอีโอเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่าง “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) ต่อนักข่าวของเดอะว็อกซ์ (The Vox) ยังนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องความเป็นส่วนตัวครั้งใหญ่ได้อีกรอบ เมื่อซีอีโอเฟซบุ๊กยอมรับว่า มีการตรวจสอบข้อความ ภาพถ่าย ฯลฯ ที่ผู้ใช้งานส่งผ่านแอพพลิเคชันแมสเซนเจอร์ (Messenger) ของทางค่าย

คำอธิบายของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ระบุว่าเป็นการสแกนโดยระบบของเฟซบุ๊ก ไม่ใช่สแกนโดยมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ต้องกังวลว่าจะมีมนุษย์เข้าใจ และนำไปขยายความต่อแต่อย่างใด

กระนั้น ก็มีผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งที่กังวลต่อประเด็นดังกล่าว โดยจะพบว่ามีเสียงเรียกร้องต่อเรื่องนี้ปรากฏบนทวิตเตอร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ในความเข้าใจของผู้ใช้งานแอปพลิเคชันแมสเซนเจอร์นั้น การส่งข้อความบนแพลตฟอร์มควรเป็นเรื่องส่วนตัว

โดยคำอธิบายของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์กระบุว่า เป็นการตรวจสอบเพื่อป้องกันการส่งข้อความที่ละเมิดต่อมาตรฐานของบริษัท เช่น ข้อความว่าร้ายผู้อื่น โดยระบบจะสะกัดข้อความเหล่านั้นไม่ให้ส่งออกไปโดยอัตโนมัติ

ทางบริษัทยังได้ชี้แจงด้วยว่า การส่งข้อความผ่านแมสเซนเจอร์นั้นยังคงความเป็นส่วนตัว แต่เฟซบุ๊กมีการใช้เครื่องมือบางอย่างเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมักพบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ทุก ๆ ข้อมูลจะต้องผ่านการตรวจสอบว่าสอดคล้องกับมาตรฐานของชุมชนที่เฟซบุ๊กตั้งขึ้น

สำหรับมาตรฐานที่ทางแพลตฟอร์มกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น ต้องไม่ใช่ภาพโป๊เปลือยของเด็ก เป็นต้น หรือหากมีการส่ง URL ระบบก็จะตรวจสอบว่าปลายทางของ URL นั้น ๆ ไม่ใช่ไวรัส หรือมัลแวร์

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมมีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานนั้น ตัวแทนจากเฟซบุ๊กให้เหตุผลว่าต้องการสะกัดการล่วงละเมิดผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้เร็วที่สุดนั่นเอง ซึ่งการใช้แรงงานคนอาจไม่สามารถทำได้ทัน

ทั้งนี้ต้องบอกว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหวมากอีกครั้งหนึ่งของเฟซบุ๊ก อีกทั้งแมสเซนเจอร์ก็เป็นบริการสำคัญของเฟซบุ๊กใน พ.ศ. นี้อย่างมาก ดังนั้น หากเกิดกระแสความไม่พอใจก็น่าจะเป็นผลเสียต่อเฟซบุ๊กและมูลค่าหุ้นของบริษัทมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงการเข้ารหัส ซึ่งในบริการอย่างวอทส์แอป (WhatsApp) อีกหนึ่งบริษัทลูกของเฟซบุ๊กมีบริการเข้ารหัสข้อความให้โดยอัตโนมัติ ขณะที่แมสเซนเจอร์นั้น ก็มีฟีเจอร์ดังกล่าวเช่นกัน แต่ผู้ใช้งานต้องเข้าไปเปิดฟีเจอร์นี้จึงจะเข้ารหัสข้อความที่คุยกันได้

เรียบเรียงจาก Bloomberg

Avatar photo