Technology

‘คลังสินค้าอัจฉริยะ’ หัวใจดิจิทัลซัพพลายเชน ในอาเซียน ธุรกิจปรับด่วน!

คลังสินค้าอัจฉริยะ หัวใจของดิจิทัลซัพพลายเชนในอาเซียน ตอบรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล อีคอมเมิร์ซพุ่ง ธุรกิจโลจิสติกส์ กระจายสินค้าปรับด่วน

นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน และผู้นำประจำภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์ เปิดเผยว่า การประกาศปิดประเทศ และการที่ธุรกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก จากสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นตัวเร่งให้ การยกเครื่องระบบซัพพลายเชน และ การพัฒนา คลังสินค้าอัจฉริยะ กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนในอุตสาหกรรมในวงกว้าง

คลังสินค้าอัจฉริยะ

ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลง ของโรงงานผลิต และประกอบชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ ไปจนถึงความล่าช้าของผลิตภัณฑ์ยาที่จำเป็น ได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก และทำให้เครือข่ายซัพพลายเชนที่สลับซับซ้อน เกิดการหยุดชะงัก

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมค้าปลีก ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา รวมถึงจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีแนวโน้มไปที่การตลาดแบบทุกช่องทาง หรือ ออมนิแชนเนล (Omnichannel) และการซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น

eMarketer เคยคาดการณ์ไว้ว่า การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ในเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 25% และจะแตะระดับ 2.271 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563

แม้ว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมากที่สุด แต่อุตสาหกรรมและองค์กรอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องปรับความสามารถของตนเอง ให้รับมือกับผลกระทบดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มขึ้นของรูปแบบการขาย และส่งสินค้าตรงถึงลูกค้า  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมาก รวมถึงการที่ธุรกิจต้องหาวิธี เพื่อจัดการกับระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า

ยกกรณีคลังสินค้าเป็นตัวอย่าง ศูนย์ภูมิภาค ซึ่งทำหน้าที่เก็บสต็อกสินค้า ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ มีการดำเนินงานที่แตกต่างจากศูนย์คลังสินค้าที่พร้อมจัดส่งที่ให้บริการเก็บ-แพ็ค-ส่ง (fulfillment) และส่งสินค้าตรงถึงบ้านของลูกค้า แต่เดิมรูปแบบการขายแบบ B2B และแบบ B2C มีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน

แต่เมื่อความต้องการเปลี่ยนจาก การซื้อขายล็อตใหญ่ ๆ ไปเป็นการซื้อขายเป็นชิ้น ๆ ผู้ประกอบการด้านคลังสินค้า จึงต้องเริ่มคิดหาวิธีที่ดีที่สุด ที่จะรองรับการทำงานทั้งสองรูปแบบ ได้ในคราวเดียวกัน

ฟาบิโอ ทิวิติ
ฟาบิโอ ทิวิติ

การจัดส่งสินค้าทั้งแบบ B2B และ B2C ได้จากแหล่งเดียวกัน มีข้อดีหลายประการ เช่น สามารถใช้คนทำงานกลุ่มเดียวกัน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และลดระยะเวลาในการจัดส่ง ข้อดีเหล่านี้ จะเห็นได้ชัดเจน ในภูมิภาคที่ขาดแคลนเส้นทางในการสัญจรถึงกัน หรือมีความแออัดสูง ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนด้าน fulfilment ได้ด้วย

นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นดังกล่าว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังเติบโตได้ เช่นการขายสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้า และไม่ต้องเป็นคนส่งสินค้าเอง (dropshipping) หรือ การส่งสินค้าผ่านตัวแทนให้บริการขนส่ง และโลจิสติกส์ (third-party logistics: 3PL) เป็นต้น

ผู้ให้บริการคลังสินค้าได้พัฒนาอย่างจริงจัง จากความรับผิดชอบในการจัดเก็บสินค้า จนถึงการมีส่วนสนับสนุน ด้านค่าใช้จ่ายโดยรวม ในการบริหารจัดการซัพพลายเชนในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนระบบต่าง ๆ ในการจัดซื้อ สายการผลิตที่ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก และสนับสนุนกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชนต่าง ๆ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้ให้บริการคลังสินค้า สามารถทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรงขึ้น หรือสามารถบรรเทา และลดผลกระทบ ของการหยุดชะงัก ที่อาจเกิดขึ้นกระทันหันได้อย่างจริงจัง

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลังสินค้าส่วนใหญ่ มีระบบสำหรับบริหารจัดการซัพพลายเชน ของตนเองอยู่แล้ว เช่น การใช้โปรแกรม Excel ไปจนถึงการใช้อีอาร์พีแอปพลิเคชั่น (ERP application) ซึ่งระบบที่เป็นเอกเทศซึ่งกันและกันเหล่านี้ อาจใช้งานได้ค่อนข้างดีสำหรับการทำธุรกิจแบบ B2B

logistics 1

ข้อด้อย คือ ต้องใช้คนทำงานจำนวนมาก และมีข้อจำกัดในการมองเห็นความเคลื่อนที่ ของสินค้าแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าว ยังไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ด้านซัพพลายเชน ที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน และหากพิจารณาถึงตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ผู้ประกอบการด้านคลังสินค้าจำเป็น ต้องตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยี และอัปเกรดระบบเพื่ออนาคต ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

การอัปเกรดที่มีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มด้วยการย้ายระบบ ERP และโซลูชั่นระบบบริหารจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System: WMS) ไปทำงานบนคลาวด์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับขยายการทำงาน ได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาในการติดตั้งน้อยลงมาก

สิ่งสำคัญ คือ ระบบคลาวด์ ช่วยให้ทีมไอทีขององค์กร มีส่วนร่วมในการดูแลการทำงาน และการบำรุงรักษาระบบที่ทำงานอยู่บนระบบคลาวด์นั้นได้

เมื่อมีการใช้ระบบใหม่บนคลาวด์แล้ว แนวทางการทำงานจะมีความชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนการการทำงาน ที่พนักงานต้องลงมือทำเอง เช่น การสำรวจสินค้าในสต็อก หรือการประหยัดพื้นที่ใช้สอย และความต้องการเรื่องแรงงาน

ทั้งนี้ความคล่องตัวในเรื่องแรงงาน มีความสำคัญมาก ต่อการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในสถานที่ทำงาน และมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ที่ยังต้องบังคับใช้ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบบอัตโนมัติที่มีอยู่อย่างมากมายและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ธุรกิจรับมือกับปัญหาการขาดแรงงาน อันเนื่องมาจากการที่พนักงานไม่สามารถเดินทางเข้ามายังสำนักงานได้ จากมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความกังวลสูงสุดเกี่ยวกับปรับเปลี่ยนให้คลังสินค้าเป็นระบบดิจิทัล หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับ ทักษะของพนักงาน ที่ต้องเพียงพอที่จะบริหารจัดการระบบใหม่ ๆ โดยพบว่า ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ย ของพนักงานคลังสินค้า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังต่ำกว่าในพื้นที่อื่น ๆ เช่นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป

ช่องว่างด้านทักษะเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับแต่งระบบ ERP ให้เหมาะสมตามความต้องการใช้งาน ด้วยระบบอัตโนมัติแต่ละขั้น องค์กรที่เพิ่งเริ่มใช้ระบบดิจิทัล สามารถเริ่มต้นด้วยการคัดเลือกฟีเจอร์จำนวนหนึ่ง ให้ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ระบบดิจิทัล ERP และ WMS สมัยใหม่ ยังใช้งานได้ง่าย และแทบจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนเลย

ระบบคลาวด์ ยังช่วยให้การเริ่มต้นใช้งาน และการผสานรวมระบบใหม่ ๆ เข้าด้วยกันทำได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลกับการจัดหาระบบเซิร์ฟเวอร์ใหม่ หรือการอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ใช้เวลาในการติดตั้งไม่มาก เนื่องจากโซลูชั่นต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจง ให้กับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ธุรกิจต่าง ๆ ควรย้ายระบบที่ติดตั้งอยู่ภายในองค์กร ไปยังกรอบการทำงานมาตรฐาน ตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมนั้น ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo