Technology

โชว์เคส 2 องค์กรตัวอย่าง เดินหน้าสู้โควิดด้วย ‘นวัตกรรม-ความคล่องตัว’

ไมโครซอฟท์ หนุนธุรกิจไทยปรับทิศทางรับมือความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคหลังโควิด-19 พร้อมชูสององค์กร นำเทคโนโลยีมาผสานกับแนวทางการปฏิบัติงาน เดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกต่างต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ นับเป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพในการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง โดยทุกองค์กรต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า มีเครื่องมือที่พร้อมให้พนักงานเดินหน้าทำงานต่อไปได้หรือยัง

ไมโครซอฟท์ ทีมส์

สำหรับไมโครซอฟท์ มีเทคโนโลยีที่พร้อมสนับสนุนให้พนักงานรับมือกับเหตุฉุกเฉินและปรับรูปแบบการทำงานได้อย่างคล่องตัวอยู่แล้ว แต่ความท้าทายประการสำคัญที่ยังต้องเผชิญ คือการเดินหน้าแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปของลูกค้าแต่ละรายนั่นเอง

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ได้ยกตัวอย่าง 2 องค์กรของไทย ที่สามารถนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะวิกฤติ ได้แก่ เอไอเอส และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอไอเอส เน้นสร้างความยืดหยุ่น ส่งมอบบริการได้ต่อเนื่อง

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม
กานติมา เลอเลิศยุติธรรม

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ในสภาวะที่การเดินทางมาพบปะกันไม่สามารถทำได้เช่นเดิม การเสริมความยืดหยุ่นเพื่อให้ธุรกิจของเอไอเอสยังเดินหน้าต่อได้อย่างราบรื่น ควบคู่กับความปลอดภัยในชีวิตพนักงาน จึงเป็นสิ่งที่เอไอเอสให้ความสำคัญมาเป็นลำดับแรก

เอไอเอสได้ตัดสินใจประกาศนโยบายให้พนักงานกว่า 1.2 หมื่นคน ทำงานจากที่บ้านในวันที่ 21 มีนาคม และเลือกใช้โปรแกรมสื่อสารอัจฉริยะ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางของการทำงานร่วมกันในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการ Office 365 มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงคนเอไอเอสให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างต่อเนื่องและคล่องตัว เพื่อร่วมขับเคลื่อนและส่งมอบบริการให้กับลูกค้าได้อย่างไม่มีสะดุด

New Way of Work at AIS

แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะทำให้สิ่งแวดล้อม รอบตัวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการประกาศเปลี่ยนแปลงให้พนักงานทำงานจากที่บ้านก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนกัน แต่นั่นก็มิได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการทำงานของพนักงาน เพราะเอไอเอส มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าภายใต้แผนงานเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP-Business Continuity Plan)

สำหรับการดำเนินการตามแผน BCP เป็นการนำโปรแกรม Office 365, ไมโครซอฟท์ ทีมส์ และไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์ เข้ามาใช้งานในองค์กรอย่างทั่วถึงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เพื่ออำนวยความสะดวกการทำงานร่วมกันเป็นทีม เสริมความแข็งแกร่งให้ทุกทีมมีความยืดหยุ่น พร้อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

จากการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นนับแต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรง ทำให้พนักงานเอไอเอสมีความคุ้นเคยกับการใช้ไมโครซอฟท์ ทีมส์ ​พอสมควร ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องปรับตัว Work From Home อย่างปัจจุบันทันด่วน คนเอไอเอสก็พร้อมนำเครื่องมือดังกล่าวมาต่อยอดใช้งานทันที โดยเฉพาะ ไมโครซอฟท์ ทีมส์ ที่เข้ามาเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารหลัก ให้สามารถประชุมงานร่วมกันได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน และยังสามารถขยายศักยภาพของแพลตฟอร์มไปสู่การประยุกต์ใช้งานอย่างสร้างสรรค์

เอไอเอส Office

“ในสถานการณ์โควิด-19 กำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง เป็นสัญญาณว่า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น อย่างเต็มรูปแบบได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นการทำงานก็จะไม่ถูกจำกัดด้วยสถานที่อีกแล้ว แต่จะอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของทุกคน การมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพช่วยเสริมศักยภาพการทำงานในยุคดิจิทัลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”นางสาวกานติมา กล่าว

ม.ธรรมศาสตร์ ชูระบบการเรียนการสอนออนไลน์บนแพลตฟอร์มเดียว

เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษา กลุ่มคณาจารย์ และบุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศปิดทำการในแต่ละวิทยาเขตตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นมา โดยย้ายการเรียนการสอนสู่รูปแบบออนไลน์โดยสมบูรณ์

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนและลดความซับซ้อนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ตัดสินใจเลือก ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา (Microsoft Teams for Education) เป็นแพลตฟอร์มหลักหนึ่งเดียวสำหรับนักศึกษาทั้ง 41,400 คน เพื่อจัดการเรียนการสอนผ่านวิดีโอ พร้อมบริหารจัดการชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษาแตกต่างกันเป็นอย่างมาก นับจากจำนวนเฉลี่ยเริ่มต้นราว 50 คน ไปจนถึงสูงสุดกว่า 500 คน

Thammasat University

ไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารและทำงานเป็นทีมที่รองรับการใช้งานในภาคการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ รองรับจำนวนผู้เรียนได้สูงสุดถึง 5,000 คนต่อ 1 ห้องเรียน และยังสามารถสร้างห้องเรียนย่อย เพื่อแบ่งกลุ่ม หรือแบ่งหัวข้อการเรียนได้กว่า 200 ห้องย่อย ทั้งยังสามารถวัดระดับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในห้องเรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญคือ สามารถใช้งานควบคู่ไปกับโปรแกรมในการจัดการระบบการเรียนการสอนอย่าง Moodle ที่ทางมหาวิทยาลัยใช้งานอยู่แล้วในด้านงานเอกสาร การให้คะแนน ลงทะเบียน และระบบการบ้านออนไลน์ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถล็อกอินเข้าใช้งาน ไมโครซอฟท์ ทีมส์ ผ่านบัญชีผู้ใช้เดิมที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกให้ได้เลย

นอกจากนี้ นักศึกษายังสามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการแชร์เอกสารขนาดใหญ่สูงสุด 15GB ต่อไฟล์ และแก้ไขพร้อมกันได้สูงสุด 100 คน บนพื้นที่เก็บขนาดใหญ่ที่มอบให้ฟรี อีกทั้งยังบริหารจัดการเวลาในการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นจากความสะดวกในการตรวจสอบตารางการเรียนที่ระบุไว้ในปฏิทินของโปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา และ Outlook โดยตรง

พร้อมกันนี้ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาด้านค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการแจกซิมอินเตอร์เน็ตและการมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ารเลือกใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ ทีมส์ เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการ Office 365 ที่ทางมหาวิทยาลัยซื้อลิขสิทธิ์การใช้งานอยู่แล้ว จึงทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

Avatar photo