Technology

เปิดวิสัยทัศน์ 4 ขุนพล ‘ดีแทค – SIIT’ AI ไม่น่ากลัวจริงหรือ

แม้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของ พ.ศ.นี้แล้วก็จริง แต่เชื่อเหลือเกินว่ายังมีอีกหลายองค์กรเลยทีเดียว ที่ยังเข้าใจคำว่าดิจิทัลผิดพลาดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งนั่นส่งผลต่อแนวทางในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลขององค์กรที่บิดเบี้ยว และไม่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้อย่างแท้จริงตามไปด้วย

วันนี้ทีมงาน The Bangkok Insight จึงมีคำแนะนำจาก 4 กูรูด้านดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์จากดีแทค และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาฝากกัน เริ่มจาก ดร.อุกฤษ ศัลยพงษ์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ช่องทางการขาย และบริหารผลการปฏิบัติงานของดีแทค ที่เผยถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ว่าควรจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อนี้ได้แก่

  • การพัฒนาปรับปรุงระบบงานเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การที่ดีแทคพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้การดูแลลูกค้า หรือการนำเสนอโปรโมชันต่าง ๆ ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ
  • การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจของ Netflix, Grab, Ube และ Airbnb เป็นต้น
ดร.อุกฤษ ศัลยพงษ์
ดร.อุกฤษ ศัลยพงษ์

นอกจากนี้ ดีแทคยังเผยว่า บริษัทมีความสนใจใน AI เนื่องจากพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการเพิ่มขึ้นของข้อมูล โดยลูกค้าดีแทคสร้างชุดข้อมูลจำนวน 1 พันล้านชุดต่อวัน ซึ่ง 75% ของลูกค้าเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนด้วย

ดร.อุกฤษ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วน AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นในช่วงนี้เนื่องจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  • มนุษย์เริ่มใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เช่น เครือข่ายมือถือ, กล้องวงจรปิด, เซนเซอร์, Connected Device ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เรามีข้อมูลในระบบมากขึ้น (ลูกค้าดีแทคสร้างดาต้าเซ็ทหนึ่งพันล้านเซ็ทต่อวัน)
  • ต้นทุนในการประมวลผลถูกลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต
  • มีการทำงานแบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น หรือการแนะนำข้อมูลแบบ Personalized มากขึ้น ในจุดนี้ทำให้ธุรกิจสามารถสร้าง Customer Experience ใหม่ ๆ ได้

“ยกตัวอย่างกระบวนการลงทะเบียนซิมของดีแทคที่ในปี 2560 มีมากถึง 1.3 ล้านซิมต่อเดือน กระบวนการนี้แต่เดิมเคยใช้พนักงานคัดแยกภาพถ่ายบัตรประชาชน แต่หลังจากนำ AI เข้ามาช่วยในการคัดแยก ทำให้เราพบว่า AI ทำงานได้ดีกว่าคน 7 – 8 เท่าเลยทีเดียว ส่วนความผิดพลาดนั้นมีอยู่ประมาณ 1% เท่านั้น นอกจากนี้ 30% ของรายได้จากท็อปอัปบนแอพพลิเคชันดีแทค ก็มาจากการแนะนำของ AI เช่นกัน” ดร.อุกฤษกล่าว

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของ AI ยังทำให้ดีแทคมีแผนจะพัฒนา AI ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ใช้ AI หาแพทเทิร์นในการทำงานของพนักงาน เพื่อป้องกันการประพฤติผิดของพนักงาน, ใช้วิเคราะห์และคาดการณ์แพทเทิร์นการชำระเงินของลูกค้า รวมถึงการแนะนำสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งเป็นการรักษาลูกค้าให้อยู่กับบริษัทได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับความท้าทายในการนำ AI มาใช้งานของประเทศไทยนั้น ดร.อุกฤษเผยว่ามีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ ธุรกิจในไทยไม่ค่อยเก็บข้อมูล และการขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ยังมีน้อยมาก

“ความท้าทายทั้งสองข้อนี้นำไปสู่โครงการ Dtac AI Lab ที่ดีแทคมีข้อมูลจำนวนมาก ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ที่เก่งกาจ และนักศึกษาที่อยากเรียนรู้ โจทย์ข้อนี้ มหาวิทยาลัยก็ได้พัฒนาบุคลากร ส่วนดีแทคก็ได้แก้ปัญหาธุรกิจไปพร้อมกัน”

โดย AI Lab ที่ SIIT นี้ถือว่าเป็นการลงทุนสร้าง AI Lab เป็นแห่งที่ 2 ของเทเลนอร์ และใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

AI กับภาษา

ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Natural Language Processing (NLP) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึงอีกหนึ่งศาสตร์ของ AI ที่จะเข้ามาช่วยประมวลผลด้านภาษาว่า “ในอนาคตอันใกล้ AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และ NLP จะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร”

อย่างไรก็ดี กระบวนการของ NLP ที่ประกอบด้วย Processing, Understanding & Responding กับบริบทด้านภาษานั้น ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะภาษาไทย เนื่องจากการทำให้เครื่องจักรเข้าใจภาษา รวมถึงเข้าใจว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในปัจจุบัน และนำไปตอบโต้ในบทสนทนาได้ยังเป็นสิ่งที่ยากมาก

“ผมเลยเลือกทำเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเรื่องอื่นคนอื่นคงทำได้ แต่ภาษาไทย คงมีแค่คนไทยที่จะสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่”

ความท้าทายของ AI ด้าน NLP ในมุมมองของ ศ.ดร.ธนารักษ์ เองนั้นก็มีเช่นกัน ได้แก่

  • Can’t summerize ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้เนื่องจากมีจำนวนมาก จึงทำให้เรายังไปไม่ถึงจุดที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
  • Can’t connect ยังไม่สามารถทำให้ข้อมูลเชื่อมต่อกันได้
  • Can’t remember ยังไม่สามารถจดจำประวัติการพูดคุยในอดีตได้

แต่ถ้า AI พัฒนาไปถึงจุดที่ก้าวหน้ามาก ๆ จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของมนุษย์หรือไม่นั้น ศ.ดร.ธนารักษ์ มองว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องปรับตัวหนี AI เสียมากกว่า “เด็กยุคใหม่ต้องไม่ศึกษาเฉพาะแค่ในหนังสือ แต่ต้องศึกษาสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพื่อให้งานของเด็กยุคใหม่ไม่ใช่งานที่ง่ายจน AI มาล้มล้างได้นั่นเอง”

AI กับการจ้างงาน

นางสาวนาฏฤดี อาจหาญวงศ์
นางสาวนาฏฤดี อาจหาญวงศ์

ต่อเนื่องจากประเด็นที่ ศ.ดร.ธนารักษ์ ทิ้งท้ายเอาไว้ เกี่ยวกับการจ้างงาน และการถูก AI เข้ามาแทนที่ ในฐานะผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล นางสาวนาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ดีแทค ก็ยอมรับไปในทิศทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นมาถึงแล้ว

“คำถามว่าเรากลัวไหมว่า AI จะมาแย่งงาน บริษัทวิจัยแมคคินซีบอกว่า 50% ของบริษัทต่าง ๆ เริ่มนำ AI มาใช้ หรือไม่ก็กำลังปรับใช้แล้ว ดังนั้น งานต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากการมาถึงของ AI เช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ แมคคินซีพบว่า สโคปงานของซีอีโอนั้นมีถึง 20% ที่สามารถถูกออโตเมทได้ ตรงกันข้ามกับงานเช่น ออกแบบสวน เหล่านี้เครื่องจักรทำไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าตำแหน่งอะไรจึงไม่เกี่ยวกับความเสี่ยงตรงนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานต่างหาก”

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ดีแทคก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ไปได้ ความท้าทายที่ดีแทคต้องแบกรับก็คือ

  • การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ในจุดนี้ นางสาวนาฏฤดียอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก และต้องใช้เวลา แต่ไม่ว่าอย่างไร หากองค์กรยอมรับการนำ AI เข้ามาใช้ เท่ากับเป็นการบอกว่าองค์กรจะต้องเข้าสู่กระบวนการ Digital Transformation นั่นคือ Mindset ต้องเปลี่ยนก่อนเป็นอันดับแรก
  • การค้นหาและพัฒนาจุดแข็งของพนักงาน เพื่อให้พนักงานโฟกัสที่จุดแข็งนั้น และนำไปสร้างผลงาน
  • เปลี่ยนจากการประเมินผลงานด้วย KPI เป็นการให้รางวัล Rewarding เช่น โครงการ 40 Hour Challenge, Flip It Challenge ฯลฯ
  • เปลี่ยนองค์กรสู่การยึดลูกค้าและพนักงานเป็นศูนย์กลาง โดยการทำงานแบบนี้จะทำให้พนักงานทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้าน้อยลง แต่ทำงานแบบโปรเจ็คกับเพื่อนร่วมงานด้วยกันมากขึ้น

นางสาวนาฏฤดียังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “บริษัทที่จะทำทรานสฟอร์มเมชันแต่ไม่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เลย สุดท้ายจะกลายเป็นบริษัทที่ไม่สามารถใช้ AI ได้”

AI กับ Data science

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย
ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย

สุดท้ายกับ ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ของเทเลนอร์ กรุ๊ป ที่มองภาพของการใช้ AI ในทุกวันนี้ว่า จำนวนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์กับความต้องการ เช่น เรามีครู 80 ล้านคนทั่วโลก แต่องค์การสหประชาชาติพบว่า ยังมีความต้องการครูเพิ่มขึ้นทั่วโลกอีกไม่ต่ำกว่า 69 ล้านคนในปี 2573 ซึ่งความขาดแคลนในจุดนี้ AI สามารถเข้ามาปิดช่องว่างดังกล่าวได้

“ดีแทคเองก็เช่นกัน ในแต่ละวัน ดีแทคมีลูกค้าถามเข้ามาวันละ 1 ล้านคำถาม แต่ในคำถามเหล่านั้น ดีแทคพบว่า ความยากคือการจับคู่คำถามให้เข้ากับคำตอบที่มี ซึ่ง AI ต้องสามารถเชื่อมโยงคำถามจำนวนมหาศาลกับคำตอบที่เตรียมไว้ให้ได้”

หรือภาษาที่ลูกค้าใช้เป็นภาษาถิ่น ภาษาของแรงงานข้ามชาติ สแลง หรือสำนวนที่พูดเข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม เหล่านี้ก็เป็นความท้าทายของ AI เช่นกัน ซึ่งการรับมือกับความท้าทายตรงนี้ ดร.วินน์ เผยว่าแชทบอทน่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด

“แชทบอทไม่มีอคติในการพูดคุยกับมนุษย์ และสามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจได้มากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลของการสร้างบ็อทน้อย ที่มีผู้ติดตาม 1.2 ล้านคน โดยบ็อทน้อยพูดได้หลายภาษา และเข้าใจสแลง คำพูดประชดประชัน ฯลฯ ต่าง ๆ”

“ปัญญาประดิษฐ์เป็นโอกาสในอนาคต ไม่ใช่ภัยคุกคามที่น่ากลัว ปัจจุบัน เรามีแพทย์ 0.47 คนต่อประชากรไทย 1,000 คน มีครู 1 คนสอนในห้องที่มีเด็กถึง 50 คน AI คือความช่วยเหลือรูปแบบใหม่ และ AI Lab ของดีแทคและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะช่วยสร้าง Data Scientist รุ่นใหม่ ๆ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning ให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทยเช่นกัน”

Avatar photo