Technology

เปิดเบื้องลึก ‘ยาฮู เจแปน-ไลน์’ ควบกิจการ มองบทเรียนทำธุรกิจไทย สานฝันครองตลาดอาเซียน

การบรรลุข้อตกลงควบกิจการระหว่าง 2 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของญี่ปุ่น “ยาฮู เจแปน” และ “ไลน์” ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนทนาชื่อดัง เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความรู้สึกถึงวิกฤติที่ว่า บริษัทญี่ปุ่นไม่สามารถออกไปแข่งขันในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตโลกได้เพียงลำพัง และอาจถึงขั้นสูญเสียธุรกิจในตลาดบ้านเกิด เว้นแต่ว่าจะสามารถพัฒนาธุรกิจให้ครอบคลุมไปทั่วโลกได้

61460645 1737633976382332 2319916199703478272 n side

สถานการณ์ดังกล่าว ดูจะเข้าขั้นวิกฤติมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่บรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก อย่าง “กูเกิล” กำลังเร่งขยายการดำเนินงาน และเพิ่มมูลค่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ให้ครอบคลุมถึงกิจกรรมของผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ซึ่งการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นข้างต้น ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทแม่นั้น เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะปกป้องตลาดญี่ปุ่น ไม่ให้ถูกรุกรานจากภายนอก

ข้อตกลงข้างต้น สามารถไล่ประวัติย้อนหลังไปได้ถึงในช่วงต้นปีนี้ ที่ “เคนทาโร คาวาเบะ” ซีอีโอแซด โฮลดิ้งส์ ผู้ดำเนินกิจการยาฮู เจแปน ในเครือซอฟท์แบงก์ คอร์ป และ “ทาเคชิ อิเดะซาวะ” ซีอีโอไลน์ บริษัทลูกของเนเวอร์ กลุ่มอินเทอร์เน็ตจากเกาหลีใต้ มานั่งรับประทานอาหารเย็นร่วมกันเป็นครั้งแรก ก่อนที่ในเวลาต่อมา บรรดาผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัทจะพบหารือกันอีกหลายครั้งทั้งในกรุงโตเกียว และสถานที่อื่นๆ

โครงการควบรวมกิจการ 2 บริษัทเข้าด้วยกันนี้ เกิดขึ้นภายใต้ชื่อรหัส “ไกอา” ซึ่งเป็นเทพีองค์แรกของโลกตามตำนานของชาวกรีก

ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา “ลี แฮ จิน” ผู้ก่อตั้งเนเวอร์ ได้เดินทางมายังสำนักงานใหญ่ของซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ในกรุงโตเกียว เพื่อพูดคุยกับ “มาซาโยชิ ซัน” ประธานกรรมการบริหาร และประธานบริหาร โดยทั้ง 2 คน เห็นพ้องที่จะให้ แซด โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของยาฮู เจแปน และไลน์ ควบกิจการกัน

ลี แฮ จิน

ตามปกติแล้ว ลี มักไม่ค่อยปรากฎตัวออกสื่อมากนัก แต่เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต และเนเวอร์ ก็ครองส่วนแบ่งในตลาดอินเทอร์เน็ตเกาหลีใต้ไว้มากถึง 80% เกาหลีใต้เป็นเพียงไม่กี่ตลาดในโลก ที่ยักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิลไม่สามารถครองส่วนแบ่งข้างมากในตลาดเสิร์ช เอนจิ้นไว้ได้

สื่อเกาหลีใต้พากันกล่าวถึงการควบรวมกิจการระหว่างยาฮู เจแปน กับไลน์ ว่าเป็น “พันธมิตรซัน-ลี” ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระดับประเทศ ระหว่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นถดถอยลงอย่างมาก

000 1M147V
มาซาโยชิ ซัน

อย่างไรก็ดี แม้ลีจะประสบความสำเร็จในการปกป้องส่วนแบ่งในตลาดบ้านเกิดไว้ได้ แต่เขาก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก เพราะต้องเจอกับการแข่งขันอย่างหนัก จากกลุ่มบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ทั้งจากจีน และสหรัฐ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาได้ออกมาย้ำคำเตือนต่อพนักงานของบริษัทหลายครั้งว่า กูเกิล และ เทนเซ็นต์ เป็นบริษัทที่มีกำลังคนดีสุดในโลก

ไลน์ บริษัทลูกของเนเวอร์ก็ประสบกับความยากลำบากในหลายด้านเช่นกัน รวมถึง การขาดเงินทุนเพื่อสนับสนุนแผนส่งเสริมการขาย และการแข่งขันในบริการชำระเงินผ่านมือถือ

ระหว่างการแถลงข่าวเพื่อประกาศการควบรวมกิจการนั้น ทั้งคาวาเบะ และอิเดะซาวะ ต่างก็ย้ำถึงวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีน และสหรัฐ

แม้ยาฮู เจแปน และไลน์ จะมีฐานผู้ใช้บริการรายเดือนอยู่ที่ราว 67 ล้านราย และ 160 ล้านรายตามลำดับ แต่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของโลกนั้น ต่างมีผู้ใช้บริการรายเดือนมากกว่า 2,000 ล้านราย ทั้งในเรื่องของเม็ดเงินใช้จ่ายด้านการพัฒนา และวิจัย (อาร์แอนด์ดี) ที่ทั้ง 2 บริษัทควบกิจการกันไว้ปีละราว 20,000 ล้านเยนนั้น ก็เทียบไม่ติดกับ 4 ยักษ์เทคโนโลยีของโลก อย่าง กูเกิล อเมซอน เฟซบุ๊ก และแอปเปิ้ล ที่ต่างใช้เงินด้านนี้ปีละหลายล้านล้านเยน

line123 1

ระหว่างการเจรจาควบรวมกิจการกันนั้น แซด โฮลดิ้งส์ และไลน์ ต่างเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของตัวเองในญี่ปุ่น ก่อนที่จะขยายออกไปยังตลาดอื่นๆ ในเอเชีย และออกไปสู่ตลาดโลก

ทั้ง 2 บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการลูกค้า 100 ล้านรายในญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะเป็นลูกค้าจำนวนมากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในบ้านเกิด แต่ก็ยังไม่พอที่จะขยายขนาดกิจการได้ จนกว่า จะสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดต่างแดน และมีเงินลงทุนในด้านอาร์แอนด์ดี

กระนั้นก็ตาม ทั้ง 2 บริษัท ยังมองเห็นสัญญาณบวกมาจากประเทศไทย โดยข้อมูลจากวี อาร์ โซเชียล บริษัทวิจัยสัญชาติอังกฤษ ระบุว่าในปีนี้ ไลน์มีผู้ใช้งานในไทยมากถึง 84% ของประชากรทั้งประเทศที่ 70 ล้านคน เทียบกับสัดส่วนผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ที่ 72% วอทส์แอป และวีแชท รายละ 25%

บริการของไลน์ในไทย รวมถึง การชำระเงิน เรียกรถรับส่ง และช้อปปิ้ง ทั้งยังมีบริการที่ไม่ได้มีในญี่ปุ่น อย่าง ไลน์ทีวี วีดิโอสตรีมมิง และสวนสนุกในร่ม

แต่ไลน์กลับล้มเหลวที่จะประสบความสำเร็จแบบไทย ในประเทศอื่นๆ แม้ครั้งหนึ่ง บริษัทจะมีผู้ใช้งานมากกว่า 30 ล้านรายในอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันลดเหลือเพียง 16 ล้านรายเท่านั้น

liiiii

ความแตกต่างที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงเวลาที่บริษัทเข้าไปในตลาด และความพยายามที่ปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น

ไลน์ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาในไทย เมื่อปี 2557 โดยถือหุ้นอยู่ 50% พร้อมตั้งผู้บริหารไทยเข้ามาดูแลกิจการนี้ โดยบริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดด้วยการนำเสนอบริการที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ส่วนในอินโดนีเซียนั้น ไลน์เข้าไปตั้งบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นอยู่เกือบเต็ม 100% เมื่อปี 2559 ทั้งยังเข้าไปในตลาดนี้ค่อนข้างช้า บริษัทยังล้มเหลวในการสร้างความหลากหลายให้กับการบริการ และตกไปอยู่ล้าหลังวอทส์แอป

ทั้งนี้ การบริโภคอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั้งบริษัทจีน และอเมริกัน ต่างเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคนี้ 

การแข่งขัน ที่กลายเป็นเรื่องที่ต้องแข่งกับเวลานี้ ทำให้คู่ควบกิจการใหม่อย่างยาฮู เจแปน กับไลน์ ตกอยู่ในความเสี่ยง ที่จะลงเอยด้วยการกลายเป็น “พันธมิตรกาลาปากอส” ซึ่งหมายถึงโดนโดดเดี่ยว และตามเทรนด์โลกไม่ทัน เว้นแต่ว่าจะสามารถพัฒนาบริการต่างๆ ที่เป็นนวัตกรรม และไม่เคยมีที่ไหนมาก้อน และทำให้การดำเนินงานกลมกลืนไปกับท้องถิ่นให้ได้

ที่มา : นิกเคอิ เอเชียน รีวิว

Avatar photo