Technology

‘ไมโครซอฟท์’ เปิดแนวคิด ‘เอไอ’ สร้างมิติใหม่อุตฯ ‘อาหาร-พลังงาน’

ไมโครซอฟท์ ดึงพันธมิตร ใช้เอไอ พลิกเกมธุรกิจไทย ประเดิมอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน จับมือ ซีพีเอฟ – พีทีที เอ็กซ์เพรสโซ่ มั่นใจคนไทย 99% ที่ไม่ได้ทำงานด้านไอที สามารถปั้นเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานจริงได้บนเพาเวอร์ แพลตฟอร์ม

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจของประเทศไทย สนใจเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ มองเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนจากความต้องการหาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยี เอไอ

เอไอ

ทั้งนี้ เทคโนโลยี เอไอ ต้องนำมาจัดการกับความท้าทายในการทำงานได้อย่างเหมาะสม มีทิศทางที่ชัดเจนในการผสมผสานนวัตกรรมต่างๆ ให้เข้ากับรูปแบบและระบบงานของพนักงาน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงจุดมุ่งหมายหลักของธุรกิจเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความล้ำสมัยของตัวเทคโนโลยีที่นำมาใช้

ไมโครซอฟท์ได้แบ่งแนวทางการประยุกต์ใช้ เอไอ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • Engage – เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  • Innovate – สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ
  • Work – พลิกรูปแบบการทำงาน เพื่อประสิทธิภาพที่เหนือกว่า
  • Solve – เอาชนะอุปสรรค แก้ไขปัญหาในสังคม
Dhanawat Suthumpun Keynote
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์

สำหรับการ Engage หรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนั้น เทคโนโลยีไม่ได้เข้าไปมีบทบาทแต่ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงการตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารและประสานงานในทุกระดับ

ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) แอปพลิเคชันที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานเป็นทีมในยุคดิจิทัล ซึ่งยังคงเพิ่มคุณสมบัติด้าน เอไอ ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นล่าสุดกับ Content Camera ที่ช่วยให้การประชุมผ่านวิดีโอสะดวกมากขึ้น หรือ Live Captions ซึ่งจะเปิดให้บริการในภาษาอังกฤษในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อถ่ายทอดเสียงพูดของผู้เข้าประชุมออกมาเป็นข้อความบรรยายบนหน้าจอแบบสดๆ

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้เชิญพันธมิตรอย่าง เซอร์ทิส (Sertis) บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่นชั้นนำ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ เอไอ และการจัดการข้อมูล มาร่วมแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวการนำแพลตฟอร์ม เอไอ ของไมโครซอฟท์มาตอบโจทย์ทางธุรกิจในด้านนวัตกรรมและการทำงานทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน

fig 12 11 2019 16 00 16 e1573574520295

นายธัชกรณ์ วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเซอร์ทิส กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายสูงสุดของเซอร์ทิส คือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการทำงานของลูกค้า และไมโครซอฟท์ก็นับเป็นพันธมิตรรายสำคัญของเรา ด้วยแพลตฟอร์มระดับโลกทั้งในด้าน เอไอ คลาวด์ และข้อมูล ที่พร้อมรองรับการพัฒนาต่อยอดให้ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจอย่างสมบูรณ์

“เห็นได้จากตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาโซลูชั่น เอไอ ที่ช่วยให้ลูกค้าของเราอย่างซีพีเอฟและ พีทีที เอ็กซ์เพรสโซ่ สามารถเติมเต็มความต้องการที่แตกต่างกันไปในอุตสาหกรรมของตนเอง เสริมศักยภาพการทำงานในปัจจุบัน และเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ในอนาคต”นายธัชกรณ์ กล่าว

ด้านนายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟและเซอร์ทิสบนแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ว่า เป็นการริเริ่มและพัฒนาโครงการ CPF AI FarmLab Powered by Sertis เพื่อนำนวัตกรรม เอไอ และ คอมพิวเตอร์ วิชั่น ซึ่งเป็นการแยกแยะและวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว มาพัฒนาระบบบริหารและจัดการฟาร์ม

Envision CEO Talk 2

การทำงานของโครงการดังกล่าว เริ่มจากระบบป้องกันโรคและติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานในฟาร์มปศุสัตว์ ในรูปของการวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อแจ้งเตือนกรณีมีพนักงานเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเก็บสถิติย้อนหลังโดยละเอียด เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่สัตว์ในฟาร์มจะได้รับเชื้อจากแหล่งภายนอก

ส่วนนายธันว์ เหลียงไพบูลย์ Venture Lead จาก พีทีที เอ็กซ์เพรสโซ่ (PTT ExpresSo) ทีมนักพัฒนาเทคโนโลยีจาก ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Smart Energy Platform by ExpresSo x Sertis เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและ เอไอ มาประยุกต์ใช้กับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อให้สามารถทราบถึงกำลังการผลิตและการใช้งานพลังงานไฟฟ้าในอาคารต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเพื่อคาดการณ์แนวโน้มความต้องการในอนาคต รวมไปถึงการใช้บล็อกเชนมาเป็นพื้นฐานของระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้จากระบบโซลาร์รูฟท็อป ให้อาคารอื่นๆ ได้นำไปใช้งานตามความต้องการอีกด้วย

ปัจจุบัน มีคนไทยเพียง 0.13% เท่านั้นที่ทำงานอยู่ในสายไอที ไมโครซอฟท์จึงเดินหน้าผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลในทุกระดับอย่างทั่วถึง ไปจนถึงการสร้าง เพาเวอร์ แพลตฟอร์มให้คนทำงานทั่วไปได้ลงมือพัฒนาแอปพลิเคชันและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานด้วยตนเอง แม้จะไม่ได้มีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมมาก่อน

“ไมโครซอฟท์ เชื่อมั่นว่าด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดที่สอดคล้องกัน คนไทยอีก 99% ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักพัฒนาในแบบที่เราเรียกว่า ‘Citizen Developers’ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าจากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ สู่การเป็นผู้ “ประดิษฐ์ปัญญา” ได้อีกด้วย” นายธนวัฒน์กล่าวปิดท้าย

Avatar photo