Technology

เอเชียแปซิฟิก ทะยานผู้นำ ‘นวัตกรรม 5G’ เกาหลีใต้ปักธงใช้เชิงพาณิชย์

ในงาน “หัวเว่ย เอเชีย-แปซิฟิก อินโนเวชั่น เดย์” ครั้งที่ 5 ที่เริ่มขึ้นวันแรกในวันที่ 3 กันยายน 2562 ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน มีการกล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ที่น่าจับตา ในแง่ของการจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก จากแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วย 5G รวมถึงเทคโนโลยีอย่าง เอไอ, ไอโอทีและคลาวด์ ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก โดยปัจจุบันผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม 35 รายใน 20 ประเทศทั่วโลกได้เปิดให้บริการ 5G แล้ว และอีก 33 ประเทศได้มีการจัดสรรคลื่น 5G แล้ว

William Xu
วิลเลียม สวี

นายวิลเลียม สวี กรรมการบริษัทหัวเว่ย และประธานบริหารของสถาบันแห่งการวิจัยยุทธศาสตร์ กล่าวว่า เอเชียแปซิฟิกกลายเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกในด้านการเปิดให้บริการ 5G โดยมีเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ และตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ 5G เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ซึ่งพบว่า จำนวนผู้สมัครใช้บริการเทคโนโลยี 5G ได้เพิ่มสูงเกิน 2 ล้านรายแล้ว

ทั้งนี้ ประเทศเกาหลีใต้ได้กลายเป็นมาตรฐานของโลกสำหรับการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ ในขณะที่ประเทศจีนได้สร้างเครือข่าย 5G ขนาดใหญ่สำหรับการทดลองให้บริการเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ก็ได้ติดตั้งเครือข่าย 5G ในเมืองหลักๆ รวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซิ่นเจิ้น และเฉิงตู ซึ่งมีอัตราความเร็วของการดาวน์โหลดสูงถึง 1 Gbps หรือเทียบได้กับการดาวน์โหลดภาพยนตร์ HD ความละเอียดสูงระดับ 1080P เรื่องหนึ่งได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

“5G เป็นเทคโนโลยีที่กำลังขยายการให้บริการไปทั่วโลก คือรากฐานของโลกอัจฉริยะ ซึ่งทุกสิ่งอย่างเชื่อมต่อกัน ปัจจุบัน เราเริ่มก้าวสู่ยุคของ 5G และยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เพื่อนำดิจิทัลไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วทั้งโลก การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมได้ก้าวจากยุคของเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่ยุคของระบบอัตโนมัติและดิจิทัล”นายสวีกล่าว

ในส่วนของ หัวเว่ยได้เซ็นสัญญา 5G เชิงพาณิชย์แล้วกว่า 50 ฉบับทั่วโลก และได้ส่งมอบ Massive MIMO AUU ไปแล้วกว่า 200,000 หน่วย ภายใต้เป้าหมายการมุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพของสังคม และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรม

UK 5G

ในงานครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานรัฐบาล อุตสาหกรรม และนักวิชาการ ได้กล่าวถึงมุมมองต่างๆ อาทิ การวางนโยบาย การกำกับ และการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัล เป็นต้น โดยพวกเขาได้กล่าวถึงการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการเรียนรู้และการป้องกันระบบนิเวศทางธรรมชาติ พร้อมแบ่งปันกรณีศึกษาเรื่องการเสริมสมรรถนะให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี 5G และ เอไอ

ตัวอย่างของเทคโนโลยีเพื่อสังคม เช่น StorySign แอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ที่ใช้เทคโนโลยีการจดจำภาพและการจดจำลักษณะของสายตา เพื่อแปลหนังสือเด็กให้เป็นภาษามือ ช่วยให้เด็กที่พิการทางการพูดและการได้ยินสามารถเรียนรู้วิธีอ่านได้

นอกจากนี้ ในประเทศคอสตาริก้า บริษัท เรนฟลอเรสต์ คอนเนกชั่น ได้ติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าระวังพลังงานแสงอาทิตย์ในป่าฝนขนาด 2,500 ตารางกิโลเมตร ด้วยศักยภาพการวิเคราะห์อันชาญฉลาดและดาต้าสตอเรจขนาดยักษ์ของหัวเว่ย คลาวด์ อุปกรณ์เฝ้าระวังนี้สามารถที่จะประมวลเสียงที่ซับซ้อนในป่าได้แบบเรียลไทม์ และระบุเสียงของเลื่อยยนต์และรถบรรทุกได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย เป็นต้น

ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การดูแลรักษาโลก และการพัฒนาการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างกลมกลืน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม เทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ 5G, คลาวด์, ไอโอที และ เอไอ จะช่วยพลิกโฉมโลก ที่ซึ่งทุกสิ่งจะรับรู้ถึงกัน เชื่อมโยงกัน และมีความอัจฉริยะ โลกอัจฉริยะกำลังมาถึงทุกคน ทุกองค์กร และทุกอุตสาหกรรม เทคโนโลยีกำลังทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น

Avatar photo