Technology

8 เรื่องต้องรู้ กลยุทธ์หัวเว่ย’61

20180315 135237 1

เป็นแบรนด์ที่มีบทบาทมากขึ้นทุกทีสำหรับวงการสมาร์ทโฟนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กับชื่อของหัวเว่ย แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งนอกจากพัฒนาสมาร์ทโฟนในระดับราคาต่าง ๆ เพื่อเจาะแต่ละเซกเมนต์ให้ได้ตรงจุดอยู่นั้น ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารก็เผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการปรับตัวไปสู่เทคโนโลยี IoT ที่หลายคนรอคอยด้วยเช่นกัน วันนี้เราจึงขอรวบรวม 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับหัวเว่ยในปีนี้มาฝากกัน เริ่มจาก

1 ตลาดเปลี่ยน มือถือราคาประหยัดหดตัว

โดยความน่าสนใจของตลาดสมาร์ทโฟนไทยที่หัวเว่ยพบก็คือ มีการอัปเกรดจากรุ่นประหยัดหรือรุ่นเริ่มต้นมาสู่สมาร์ทโฟนในกลุ่มราคา 3,000 – 7,000 บาทเพิ่มสูงขึ้น ส่วนสมาร์ทโฟนในระดับราคาต่ำกว่า 3,000 บาท มีขนาดตลาดที่หดตัวลง 29% ส่วนกลุ่มราคา 3,000 – 5,000 บาท เติบโตขึ้น 24% และกลุ่ม 5,000 – 7,000 บาท เติบโตสูงสุดที่ 35% (ดังภาพ)

20180315 134129 1
นายทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย

2 แข่งกันที่มูลค่า ไม่ใช่จำนวน

ในมุมของหัวเว่ย เมื่อตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยไม่เหมาะที่จะเติบโตในด้านยูนิต การเติบโตด้านราคาขายเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแทนที่ และจะมีคนอัปเกรดมาใช้เครื่องระดับกลางมากขึ้น อย่างไรก็ดี หัวเว่ยคาดการณ์ว่าการเติบโตคงอยู่ในระดับเลขตัวเดียวไม่ต่างจากปี 2559 – 2560

3 เข้าให้ถึงใจ ต้องสื่อสารผ่านคาแรคเตอร์ดังในโซเชียลมีเดีย 

โดยกลุ่มเป้าหมายของตลาดสมาร์ทโฟนระดับราคา 3,000 – 7,000 บาทนั้นส่วนใหญ่คือนักศึกษา และคนวัยเริ่มต้นทำงาน ส่งผลให้ทางหัวเว่ยเลือกใช้คาแรคเตอร์จากโซเชียลมีเดียอย่าง ‘JayTheRabbit’ และ ‘คนอะไรเป็นแฟนหมี’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของแบรนด์สมาร์ทโฟนไทยที่นำคาแรคเตอร์มาเป็นพรีเซนเตอร์ โดยจุดเด่นของสองคาแรคเตอร์นี้มาจากคอนเทนต์บนเพจที่เป็นการเล่าเรื่องสนุกๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเข้าถึงคนไทยส่วนใหญ่ อีกทั้งรองรับได้ทั้งกลุ่มที่เป็นคนโสด (JayTheRabbit) และกลุ่มคนที่มีคู่ (คนอะไรเป็นแฟนหมี) 

Huawei Y9 2018 5

4 จับกลุ่มคนเริ่มทำงานผ่านสมาร์ทโฟนเน้นความคุ้มค่า

หัวเว่ยบอกว่า ที่ผ่านมาอาจไม่ได้เห็นกันบ่อยนักกับการใส่ฟีเจอร์ 4 กล้อง (ด้านหน้า 2 จุด และด้านหลัง 2 จุด) ลงในสมาร์ทโฟนระดับราคา 3,000 – 7,000 บาท รวมถึงยังมีหน้าจอ Full HD และแบตเตอรี่ขนาด 4000 mAh ด้วย แต่มองว่าถ้าต้องการเจาะตลาดกลุ่มนักศึกษาและคนเริ่มต้นทำงาน ต้องเน้นที่ความคุ้มค่า และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ (เช่น ชอบเซลฟี่ เป็นต้น) จึงนำไปสู่การตัดสินใจพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวออกมา

5 ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่ “ต้องมี”

หัวเว่ยมองตลาดออนไลน์เป็นตัวช่วยเสริมแกร่งธุรกิจให้ตอบโจทย์ได้แบบ Omnichannel นั่นคือจะซื้อที่ไหน เมื่อไร ต้องซื้อได้ ผลคือมีการเปิดตัว Official Store บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง ลาซาด้า, 11สตรีท และช้อปปี้ แล้วเป็นที่เรียบร้อย แต่สำหรับคาดการณ์ยอดขายบนออนไลน์นั้น ทางผู้บริหารหัวเว่ยบอกแต่เพียงว่า ขึ้นอยู่กับดีลว่าตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากแค่ไหนเป็นสำคัญ

6 เปิดพรีออเดอร์ออนไลน์ครั้งแรก

ก่อนหน้านี้ เราอาจเคยได้ยินการเปิดพรีออเดอร์สมาร์ทโฟนที่เป็นที่จับตาของตลาดกันมาแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดให้พรีออเดอร์ Y9 ครั้งแรกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้ ในระหว่างวันที่ 16 – 29 มีนาคมด้วยเช่นกัน โดยมีของแถมให้เป็นที่ชั่งน้ำหนักอัจฉริยะราคาประมาณ 3,000 บาท

7 ฟีเจอร์ด้านการถ่ายภาพต้องตอบโจทย์

หัวเว่ยมองว่า เพื่อจับตลาดวัยเริ่มต้นทำงาน ฟีเจอร์ที่จำเป็นสำหรับคนยุคนี้คือ AR Lens รวมถึงระบบที่ช่วยในการถ่ายภาพได้แบบอัจฉริยะขึ้นอย่าง Smart Face Recognition ที่วิเคราะห์ได้ว่าเป็นภาพใบหน้าผู้หญิงหรือผู้ชาย หากเป็นผู้หญิงก็จะปรับแต่งให้ขาวใสตรงกับพิมพ์นิยมของคนยุคนี้ แต่ถ้าตรวจจับใบหน้าแล้ววิเคราะห์ว่าเป็นใบหน้าผู้ชาย ก็จะเน้นให้มีลุคธรรมชาติ ไม่ต้องหน้าผ่องตามสาว ๆ แต่อย่างใด

8 รุก IoT ด้วย Smart Speaker

หัวเว่ยยอมรับว่าพัฒนาลำโพงอัจฉริยะของตัวเอง และกำลังมีแผนจะเปิดตัวในอนาคตอันใกล้ รวมถึงอุปกรณ์ IoT อื่น ๆ เช่น สายรัดข้อมือ, เครื่องชั่งน้ำหนัก, หูฟัง ฯลฯ ที่บางส่วนก็สามารถเป็นเจ้าของกันได้แล้ว เสียอย่างเดียวที่ยังบอกไม่ได้ว่า บรรดาอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ โดยเฉพาะลำโพง รองรับภาษาไทยได้หรือไม่ จึงอาจเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจุดแข็งจุดอ่อนทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะทำให้หัวเว่ยก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไทยได้ในปี 2563 หรือไม่

 

Avatar photo