Technology

‘KBTG’ ผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ระดับโลก พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่-สร้างชุดข้อมูลภาษาในอาเซียน

KBTG ประกาศความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง AI Singapore และ Google Research ร่วมสร้างชุดข้อมูลภาษาในอาเซียนและพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่  ภายใต้โครงการซีลด์ ตอกย้ำยุทธศาสตร์ Human First x AI First และบทบาทผู้นำด้าน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า โครงการซีลด์  (Southeast Asian Languages in One Network Data: SEALD) ถูกริเริ่มโดย AI Singapore และ Google Research เมื่อเดือนมีนาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกฝน พัฒนา และประเมินโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) สำหรับภาษาที่ใช้ในอาเซียน เช่น ภาษาไทย อินโดนีเซีย ทมิฬ ฟิลิปปินส์ และพม่า

KBTG

ทั้งนี้ ได้มีการจับมือกับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ ที่เชี่ยวชาญด้าน LLM ซึ่งโครงการนี้จะช่วยขยายขีดความสามารถของ LLM และความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ไปจนถึงส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ LLM ตลอดทั้งภูมิภาคเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

จากจุดประสงค์ของโครงการ SEALD ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Human First x AI First ของ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ในการมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยยังคงมนุษย์ไว้ซึ่งศูนย์กลาง KBTG จึงได้มีการจับมือกับ AI Singapore และ Google Research เพื่อเข้าร่วมโครงการ SEALD ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ LLM ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค

ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กร ประกอบกับทรัพยากรที่สร้างขึ้นจาก ThaLLE by KBTG โมเดล LLM อัจฉริยะด้านการเงิน จะช่วยส่งเสริมโครงการให้พัฒนาและเติบโตยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ได้เรียนรู้และทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำด้าน AI ระดับโลก รวมถึงเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนการเติบโตของ LLM ในภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายของโครงการในปีนี้ จะเน้นการร่วมสร้างชุดข้อมูลในภาษาไทยคุณภาพสูง ซึ่งขณะนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ (Underrepresented) และในอนาคตจะมีการส่งนักวิจัยจากแล็บไปร่วมพัฒนาและประเมินโมเดลในโครงการต่อไป โดยหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้จากความร่วมมือนี้มาใช้ประโยชน์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินให้กับธนาคารกสิกรไทย และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่ให้บริการทั่วทั้งภูมิภาค

S 197255204 0
ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ชุมชน LLM มีโมเดลที่ไม่เพียงแค่เข้าใจภาษาและบริบททางวัฒนธรรมของไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย นำไปสู่การสร้างชุดข้อมูลที่มีความหลากหลายและคุณภาพสูง เพื่อนำไปเทรนโมเดลต่าง ๆ ในเครือข่าย SEA-LION (Southeast Asian Languages in One Network) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลและโมเดลต่าง ๆ ของโครงการนี้ได้โดยทั่วกันผ่าน Open Source ร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศ LLM ในภูมิภาคให้พัฒนาไปอีกขั้น

ด้าน ดร.Leslie Teo, Senior Director of AI Products, AI Singapore กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อนรับ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ในฐานะพันธมิตรและสมาชิกภายใต้โครงการซีลด์ ด้วยความเชี่ยวชาญด้าน AI ทรัพยากร และบทบาทการเป็นองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำของไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายของโครงการซีลด์ เราตั้งตารอที่จะทำงานกับ KBTG เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน ในการเพิ่มบทบาทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวงการ LLM ระดับโลก

นาย Harsh Dhand, Head of Google Research & Core Partnerships, APAC, Google Research กล่าวในตอนท้ายว่า การส่งเสริมความเข้าใจภาษาในภูมิภาคนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดช่องว่างทางดิจิทัล และเพื่อให้มั่นใจว่าความก้าวหน้าด้าน AI มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ต้อนรับ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ในฐานะพันธมิตรหลักของโครงการซีลด์

เป้าหมายร่วมกันในความร่วมมือครั้งนี้คือ การปรับปรุงความพร้อมใช้งานของชุดข้อมูลภาษาไทยคุณภาพสูงสำหรับการฝึกฝนและประเมินโมเดล ปูทางสู่การพัฒนาโมเดลภาษาที่แข็งแกร่งและครอบคลุมภาษาที่ใช้ในภูมิภาค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo