Technology

‘GenAI’ เทคโนโลยีมาแรง ทำโลก ‘ไม่เท่าเทียมกัน’ มากขึ้น

EY-Parthenon บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ระดับโลก ในเครือเอินส์ท แอนด์ ยัง หรือ อีวาย 1 ใน 4 บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่สุดของโลก จัดทำรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยง และความท้าทายต่อเศรษฐกิจของ Generative AI (GenAI) ที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีนี้มีส่วนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น 

รายงานระบุว่า แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการทำเทคโนโลยี GenAI ไปใช้อย่างแพร่หลาย แต่ความกังวลเร่งด่วนที่สุดอย่างหนึ่ง คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ อาจไม่ได้รับการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกัน

GenAI

GenAI อาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันรุนแรงขึ้นใน 2 ด้าน คือ ความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ประชาชาติระหว่างผลกำไรขององค์กร และแรงงาน และ ความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ระหว่างคนงาน และครัวเรือน

การที่เทคโนโลยี GenAI กระตุ้นให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผลผลิตทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะถูกแบ่งระหว่าง คนงาน ซึ่งจะมาในรูปแบบของค่าจ้าง (ส่วนแบ่งแรงงาน) กับ ธุรกิจ ที่จะมองเห็นในรูปแบบของผลกำไร (ส่วนแบ่งกำไร)

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การแบ่งแยกนี้มีความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งแรงงานลดลงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 90

ในสหรัฐ ส่วนแบ่งแรงงาน แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2565 ที่ 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 13% ของจีดีพี

แนวโน้มความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการว่าครึ่งหนึ่งของส่วนแบ่งแรงงานที่ลดลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึง การควบรวมกันของอุตสาหกรรม และอำนาจตลาด

GenAI

เช่นเดียวกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีก่อนหน้านี้ GenAI มีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันขาลงต่อส่วนแบ่งแรงงาน ซึ่งการที่องค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะลดต้นทุนด้านแรงงานได้มากขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้ความต้องการแรงงาน และการเติบโตของค่าจ้างลดลง จากอำนาจการต่อรองของคนงานที่ลดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo