Technology

‘Big Data Transformation’ ก้าวข้ามความ ‘กลัว’ สู่โลกดิจิทัล

เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 2  สำนักข่าว The Bangkok Insight ได้จัดเสวนาเรื่อง “ Big Data Transformation 2019 ”  ที่โรงแรม นิกโก้ กรุงเทพฯ

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 190330 0026

โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพ และความปรองดองแห่งเอเชีย นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL (มหาวิทยาลัย Canegie Mello และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปาฐกถาพิเศษ

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเรื่อง Big Data : Big Move Thailand “ โดยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงต่างๆ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในการนำ Big Data ไปใช้ประโยชน์  ประกอบด้วย  นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขา และบริการ ดิจิทัล ธนาคารยูโอบี (ไทย)

รวมถึง นายวริทธ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มปฏิบัติเพื่อความเป็นเลิศ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี  และ ดร.ทวิชา ตระกูลยิ่งยง ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี และวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 190330 0021

ททท.วางสเต็ปนำ Big Data ไปใช้ประโยชน์

นายยุทธศักดิ์ เล่าถึงปฐมบทของการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38.3 ล้านคน และคาดว่าในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวปัจจุบันมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก ททท. จึงต้องเปลี่ยนจากการทำตลาดนักท่องเที่ยวแบบเหมารวม (Mass) เป็นแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

แต่ประเทศไทยยังมีข้อมูลของนักท่องเที่ยวน้อย และส่วนใหญ่ได้จากการเก็บข้อมูลแบบ 0.4 คือ ได้ข้อมูลจากใบตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) การลงทะเบียนในโรงแรม การสำรวจความเห็นแบบกลุ่ม (Focus group) เป็นต้น จึงพยายามพัฒนาการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว และนำมาวิเคราะห์ เพื่อวางกลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ขณะนี้กระบวนการทั้งหมดยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และส่วนใหญ่ยังอยู่ในแผนแม่บท (Master Plan) เท่านั้น

HON 0450
ยุทธศักดิ์ สุภสร

ในระยะแรก ททท. จะเริ่มด้วยการเปลี่ยนระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบออฟไลน์ ให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด เพื่อบันทึกข้อมูลให้ได้ครบถ้วน ภือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้วย Big Data จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ และนำข้อมูล ไปวางแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวต่อไป

“เราคงไม่สามารถทำการตลาดแบบ Mass ได้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่า ลูกค้าที่เราต้องการ คือใคร ททท. จึงทำเรื่อง Data Transformation ทั้งในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ และการให้ข้อมูลต่างๆ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น คาดหวังว่าสุดท้าย ททท. จะกลายเป็น Data Driving Organization ในที่สุด แต่ต้องใช้เวลา และประสบการณ์ในการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล ”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญก็คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่อนข้างหวงข้อมูล ขณะเดียวกันจำนวนนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Data scientist) และผู้วิเคราะห์ข้อมูลในประเทศไทยก็มีน้อย ททท. คงไม่สามารถจ่ายเงินค่าจ้างผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ได้เท่ากับเอกชน

นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลขาดแคลน

ไม่เฉพาะอุปสรรคที่ททท.ประสบมาเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยขวากหนาม ในการนำ Big Data ไปใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่ นายเจมส์ เล่าประสบการณ์ของสถาบันการเงินที่ต้องเจอแรงบีบก่อนธุรกิจอื่นๆ ว่า ปัจจุบันธนาคารมีข้อมูลมหาศาล แต่ธนาคารในประเทศไทยยังไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และตั้งโจทย์สู้กับประเทศอื่นๆ ได้ เช่น ประเทศจีน เพราะการตั้งโจทย์ และวิเคราะห์ข้อมูลของจีน 1 ครั้ง สามารถตอบโจทย์คนมากกว่า 1,000 ล้านคน แต่ถ้าตั้งโจทย์ในประเทศจะได้คำตอบให้คนได้  50 ล้านคน

นั่นแปลว่าประเทศจีน สามารถจ้างนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล 1 คน ด้วยค่าแรงที่สูงกว่าประเทศไทย 20 เท่า เพราะมีต้นทุนต่อหน่วยที่คุ้มค่ากว่า ข้อจำกัดของประเทศไทยก็คือ ทำอย่างไรจะดึงคนกลุ่มนี้มาทำงานในประเทศให้ได้ เช่น อาจรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆ ในฐานะภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น

HON 0508
เจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส

ดังนั้นในระยะยาว ความท้าทายของธุรกิจธนาคารก็คือการหาบุคลากรเก่งๆ มาทำงาน และจะทำให้คนเหล่านั้นถ่ายทอดความเชี่ยวชาญต่อได้อย่างไร เพราะเมื่อทำงานไปสักพัก ก็จะโดนบริษัทอื่นดึงตัวไปได้ง่าย

“ไม่อยากให้มอง Big Data เป็นเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะบุคลากร ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่ดี ถ้าหากบุคลากรของธนาคารสามารถสร้างความสัมพันธ์ และความไว้ใจกับลูกค้าได้ ” 

หากก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆไปได้ การนำ Big Data  มาใช้ประโยชน์ย่อมทำได้ราบรื่น และเกิดประโยชน์ นายเจมส์ ย้ำว่า ธนาคารนำ Big Data มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานบริการ และตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงกลุ่ม ขณะเดียวกันก็จะนำมาดูแล และบริหารพนักงาน ถ้าหากมีเรื่องผิดปกติ หรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยเกิดขึ้นในระบบ นอกจากนี้ยังต้องการนำข้อมูลมาพัฒนาบุคลากร โดยนำข้อมูลไปไว้ในศูนย์กลาง เพื่อให้ทุกคนเข้าไปเรียนรู้ได้

อย่างไรก็ตามนายเจมส์ บอกว่า สิ่งที่ท้าทายของ Big Data ก็คือการหาข้อมูลที่ถูกต้อง บริษัทจึงต้องพัฒนาสภาพแวดล้อม หรือโครงสร้าง ที่ทำให้ข้อมูลถูกเก็บโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ก็ต้องมีจรรยาบรรณ  ในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลด้วย สุดท้าย คือการพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลจากคน ไปสู่การใช้ปัญหาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการตั้งคำถาม และแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆ

จีซีแนะผู้บริหาร-พนักงานองค์กรเปิดใจรับ

ขณะที่จีซี ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในองค์กรอย่างได้ผลแล้วเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา นายวริทธ์ เล่าว่า  จีซีเป็นธงนำด้านปิโตรเคมี หรือเม็ดพลาสติกของกลุ่มปตท. ซึ่งเรามีโรงงานหลายแห่ง มาตรฐานความปลอดภัย จึงเป็น “หัวใจ”

จีซีได้ลงทุนเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์นี้เป็นจำนวนมาก เพราะวัตถุดิบทั้งน้ำมัน และก๊าซ จะต้องถูกดูแลอย่างดี ไม่ให้เกิดการรั่วไหล ดังนั้นขณะที่กระบวนการผลิตในโรงงานเดินไป จะไม่ปรากฎมีคนทำงานอยู่ในโรงงาน แต่จะเป็นการดึงข้อมูลส่งผ่าน Control Room ที่มีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์ 24 ชม.

ที่ผ่านมานำข้อมูลจากโรงงานมาทำอะไรบ้าง นายวริทธ์ ยกตัวอย่างว่า โรงงานปิโตรเคมีเดินด้วยเครื่องจักรใหญ่ หากมีปัญหา โรงงานต้องหยุด และการหยุตแต่ละครั้ง หมายถึงความเสียหายสูง ดังนั้นสิ่งที่ได้นำข้อมูลไปประโยชน์ ก็คือ การดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ในงานซ่อมบำรุง เพราะเวลาซื้อเทคโนโลยี จะระบุว่า 2 ปีต้องหยุดซ่อมแซม หรือเปลี่ยนอะไหล่ แต่จริงๆอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีใครรู้จริง

HON 0474
วริทธ์ นามวงษ์

ยกตัวอย่างเหมือนคู่มือรถยนต์ จะระบุว่าให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุก 5,000 กม.หรือ 10,000 กม. ส่วนสายพานเปลี่ยนทุก 20,000 กม. เราก็เปลี่ยนไปตามนั้น ทั้งที่อะไหล่ยังอยู่ในสภาพดี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการใช้งานจริง  เราจึงมาคิดว่าหากไม่รู้ ก็ต้องทำให้รู้ จึงเริ่มนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การประมวลผล ว่าควรต้องซ่อมตรงไหน ในเวลาใด

จีซี แนะนำในอีกแง่มุมหนึ่งว่า หากจะนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ต้องมั่นใจให้ได้ก่อน ว่าปัจจัยภายในขององค์กร มีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ นั่นหมายถึงต้องปรับจากภายในก่อน  โดยมีกระบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพหลายแบบที่นำมาใช้ในองค์กรได้

ในส่วนจีซีนำกระบวนการ “Lean” หรือ การปรับวิธีการ และกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการลดความสูญเปล่า( Waste) ที่ไม่เกิดประโยชน์หรือเกิดมูลค่าเพิ่ม ทำให้ในแต่ละปี จีซีประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 2,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องลงทุน ขณะที่การลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลไม่มีของฟรี เป็นต้นทุน และอาจไม่มีผลตอบแทนกลับคืนมา

แต่การจะนำสิ่งใหม่เข้ามาใช้ในบริษัทนั้น  ไม่ง่ายเลย อยู่ที่ Mindset  ว่า พนักงานเปิดใจรับหรือไม่ด้วย นายวริทธ์ ให้เทคนิคว่า จะต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่า ไม่ได้มาแทนที่เขา เพราะบางคนอาจรู้สึกกำลังสูญเสียงานไป ซึ่งจริงๆไม่ใช่ เพราะหากทำให้ดี ทุกคนมีงานทำหมด

“ในส่วนของการนำดิจิทัลมาใช้ วิธีการต้องให้คน ได้คุ้นเคยกับระบบดิจิทัล ทำให้เขารู้สึกว่า มาช่วยเขาทำงาน นอกจากนี้ต้องทำให้ข้อมูลไหลเวียนไปมาระหว่างฝ่ายต่างๆด้วย ประโยชน์จึงจะเกิดขึ้นได้จริง”

และนอกจากพนักงานแล้ว นายวริทธ์ ฝากไปถึงผู้บริหารองค์กร หากไม่เอาด้วย ผู้บริหาร คือ อุปสรรคดีนี่เอง ทำให้การขับเคลื่อนไปไม่ได้เร็ว ทางแก้ไขจะต้องให้ผู้บริหารมีความรู้เรื่องดิจิทัล ในส่วนของจีซี ให้เราจับคู่เป็นบัดดี้กันระหว่างผู้บริหาร กับพนักงานรุ่นใหม่ที่เก่งเรื่องดิจิทัล เพื่อสอนเรื่องเทคโนโลยี

“ในอดีตเรา coach เด็ก แต่ตอนนี้ต้องให้เด็กมาสอนเรา ผู้บริหาร อย่าไปคิดว่ารู้เรื่องไปเสียหมด เพราะเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา และหากผู้บริหารมีความรู้มากพอ จะไม่เป็นอุปสรรคเสียเอง และแนะนำต้องพาผู้บริหารไปดูความเคลื่อนไหวของต่างประเทศ เหมือนจีซีพาผู้บริหารไปดูงานที่สิงคโปร์หลายรุ่นมาแล้ว กลับมาแทบไม่ต้องพูดอะไรเหมือนตอนอยู่ที่เมืองไทย ตั้งทีมทำทันที เพราะเขาไปเห็นด้วยตาตัวเองว่าโลกไปไกลแค่ไหนแล้ว ”

ใช้ Data วางกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์

ส่วนวงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างแสนสิริ เห็นความสำคัญของ Big Data มาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อนำข้อมูลมาปรับผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคเสมอ แต่ก็ไม่ง่ายที่จะหาผู้เชี่ยวชาญ มาขับเคลื่อนในเรื่องนี้

HON 0531
ดร.ทวิชา ตระกูลยิ่งยง

ดร.ทวิชา บอกว่า  Data Analysis จะมาพร้อมกับความต้องการบุคลากร ที่เรียกว่า Data Scientist ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่สายงานเทคนิค และไม่ใช่สายงานธุรกิจ แต่เป็นลักษณะผสมผสาน ต้องมีทั้งความคิดสร้างสรรค์ และ ต้องมีคุณสมบัติ Make Sense กับข้อมูลที่ได้มา

เขาบอกว่า ในอดีตนักวิเคราะห์ข้อมูล จะตั้งโจทย์ก่อนว่า ต้องการอะไร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป เพราะมีข้อมูลมหาศาลที่เข้ามา ยุคใหม่เขาจะลอง run ข้อมูลดูก่อน เพื่อหา pattern ใหม่ๆ แปลกๆ ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์เสมอไปจากสิ่งที่ได้ แต่สนุกกับการเล่นกับข้อมูล

ทำอย่างไรที่คุณสมบัติที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ สนุกกับข้อมูลที่อยู่ตรงหน้า มี sense สามารถนำข้อมูล ไปใช้เชิงธุรกิจ และพร้อมเผชิญกับความท้าทาย ในการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์มาอยู่ในคนคนเดียวกัน ซึ่งหาได้ยากมาก เรียกว่า ” เป็นมนุษย์ทองคำขาว “ เลยทีเดียว

ในส่วนของแสนสิริ ได้นำ Data ไปใช้ในการวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย และการทำเชิงกลยุทธ์ ในการขายผลิตภัณฑ์ เช่น ทำบ้าน Mixed Use อย่างไรให้ตอบโจทย์ลูกค้า และนำมาใช้ในการวิเคราะห์หาทำเลที่ตั้งโครงการที่โดนใจลูกค้าด้วย

“ลูกค้าแสนสิริ เป็น Avatar เป็นลูกค้าชั้นดี มีความเป็นยูนิคสูง ดังนั้นเราจึงต้องเสนออะไรที่แตกต่าง ให้เขาตัดสินใจได้เร็วขึ้น ประเด็นคือ ต้องหาลูกค้าให้เจอ และหาปัจจัยที่จะทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรา นี่คือ next step ของแสนสิริ และแน่นอน Big Data จะมาช่วยเรา “

HON 0580

แต่ดร.ทวิชา ยอมรับว่า ไม่ง่ายนัก  เพราะ ราคาบ้านของแสนสิริต่อหลังไต่ไปถึง 300 ล้านบาทก็มี ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้คงไม่สามารถขอ Data ได้ตรงๆ ทำได้เพียงทำแบบสำรวจ ซึ่งก็อาจไม่ได้คำตอบจริง ดังนั้นสิ่งที่ต้องมาคู่กัน คือ การลองผิดลองถูก ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าอย่างรอบด้าน และหาข้อเสนอที่คิดว่าดีที่สุดให้กับเขา

เขา ฝากทิ้งท้ายในฐานะที่อยู่กับ Big Data โดยตรงว่า จะเป็น Data Drivingได้ ต้องยอมรับก่อนว่า ข้อมูลมีประโยชน์สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้จริง  เพราะบางคนเชื่อประสบการณ์ของตัวเองมากกว่า โดยมักจะบอกว่า Data ผิด  ต้องปรับความคิดใหม่ เพราะในอดีตการนำประสบการณ์มาใช้สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ปัจจุบัน และอนาคต อาจไม่ใช่อีกต่อไป สิ่งที่ดีที่สุด คือ การผสมผสานให้ลงตัว  ระหว่าง “ความเก่ง การเปิดใจรับสิ่งใหม่ กับ insight จาก Data “ 

ข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คนที่มาจากธุรกิจแตกต่างหลากหลาย ทำให้ผู้ร่วมเสวนาวันนััน ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้รับแรง กระตุ้นในการนำ Big Data ที่อยู่ในมือมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ไม่ถูกทิ้งสูญเปล่าเหมือนในอดีต ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลที่ “รอช้า” ไม่ได้

HON 0054

Avatar photo