Technology

กลุ่ม ปตท. อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรมนำอนาคต ในงาน ‘PTT Group Tech & Innovation Day’

กลุ่ม ปตท. จัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมแห่งอนาคต พร้อมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี สอดรับเมกะเทรนด์สุขภาพ สังคมสูงวัย เอไอ โรโบติกส์ การถอดรหัสพันธุกรรม และเทคโนโลยีสีเขียว

ในงาน PTT Group Tech & Innovation Day ภายใต้แนวคิด Beyond Tomorrow: นวัตกรรม นำอนาคต นั้น หนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์คือ Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนหลากหลายแนวคิดด้านการพัฒนา ต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้อย่าง Beyond : Life Science & Digital Intelligence

กลุ่ม ปตท.

นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ จะนำพาองค์กร ปตท. ให้ก้าวข้ามจากพลังงานฟอสซิล สู่พลังงานสะอาด ตอบเทรนด์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค สังคม และชุมชน

ตลาดทุนหนุนสตาร์ทอัพแจ้งเกิด

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) และ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVE Exchange) กล่าวถึงบทบาทของตลาดทุน ต่อการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ และต่อยอดสู่ธุรกิจได้ รวมถึงการสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เห็นได้จากการที่ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (set) และตลาดเอ็มเอไอ รวม 800 บริษัท คิดเป็นมูลค่าถึง 20 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า GPP ประเทศที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท

ประพันธ์
ประพันธ์ เจริญประวัติ

ล่าสุด ตลาดทุนยังมีตลาดที่ 3 ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และตลาดสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ให้ธุรกิจขนาดย่อม และธุรกิจเกิดใหม่ สามารถเข้าตลาดได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง โดยเงื่อนไขมีเพียงเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ 50-100 ล้านบาท และมีโอกาสเติบโต ส่วนสตาร์ทอัพจะพิจารณาจากผู้ร่วมลงทุน

สำหรับธุรกิจที่เข้าจดทะเบียนในตลาด LiVEx จะสามารถระดมทุนได้ 10-500 ล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าการระดมทุนที่วางเป้าหมายไว้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ไปขยาย และต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไป ซึ่งย่อมส่งผลถึงการจ้างงาน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ตลาดทุนมีประโยชน์ทั้งการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย เศรษฐกิจ และประเทศ จากการขยายโอกาสให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

“อินโนบิก” สะพานเชื่อมงานวิจัยจากห้องแล็บสู่ตลาด

ดร.วรกันต์ บูรพาธนะ Head of Technology & Innovation บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด กล่าวว่า อินโนบิก เป็นบริษัทที่ กลุ่ม ปตท. จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ โดยมุ่งสู่ 3 เป้าหมายหลัก ที่เป็นเทรนด์ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต คือ ยา อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์

วรกันต์
ดร.วรกันต์ บูรพาธนะ

สำหรับนวัตกรรมที่ อินโนบิกให้ความสนใจ จะเน้นการธุรกิจที่สอดรับกับเมกะเทรนด์ ได้แก่ สังคมสูงวัย บิ๊กดาต้า และการรักษาที่เฉพาะเจาะจง

ดร.วรกันต์ ขยายความว่า สังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้การลงทุนเพื่อป้องกันดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งวิวัฒนาการของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยชีวิตคนได้เป็น 1,000 ล้านคน ตัวอย่างเช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19

ดังนั้น บริษัทจึงพยายามมองหาเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันดูแลสุขภาพ และช่วยยืดอายุของผู้คนให้ยาวนานขึ้น หนึ่งในนั้นคือ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือจุลินทรีย์ดี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) อาหารของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และ ซินไบโอติกส์ (Synbiotics) คือ การนำโพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ล่าสุด อินโบนิกได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนาโพรไบโอติกส์ สายพันธุ์ไทย เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสูตรจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ สำหรับระบบทางเดินอาหาร ที่มีประสิทธิภาพช่วยปรับสมดุลลำไส้ เสริมภูมิต้านทานร่างกาย ภายใต้แบรนด์ Innobic Probiotics GD

Innobic Probiotics GD

Innobic Probiotics GD jpg

สำหรับเทรนด์บิ๊กดาต้า ที่บริษัทให้ความสนใจ เนื่องจากยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งทำให้การดูแลสุขภาพดียิ่งขึ้น เช่น การจับมือกับ ฮาตาริ เน็กซ์ พัฒนาและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบใช้ภายในบ้าน อาทิ อุปกรณ์เครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องเจาะเลือด เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา

ปิดท้ายด้วยเทรนด์การรักษาที่จำเพาะเจาะจงและรักษายาก อย่าง โรคมะเร็ง สาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของคนไทย ซึ่งการนำการถอดรหัสพันธุกรรมมาใช้  จะทำให้สามารถออกแบบการรักษาได้ตรงกับแต่ละบุคคล และการพัฒนายาที่ดีขึ้น จะเพิ่มโอกาสในการเอาชนะโรคร้ายได้มากขึ้น

ภาพในอนาคตของอินโนบิก คือ การเป็นสะพานเชื่อมนวัตกรรมของคนไทยไปสู่ตลาด เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของประเทศไทย ให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง

การอ่านรหัสพันธุกรรม เพิ่มโอกาสป้องกันดูแลรักษา 

ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงความสำคัญของ Genome sequencing หรือการอ่านลำดับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ที่จะมีผลต่อการรักษา และพัฒนายา ในยุคการแพทย์ 4.0 ซึ่งเป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้อย่างมาก

วรศักดิ์
ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์

เนื่องจากทุกโรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ล้วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมโดยคำสั่งจะอยู่ในเซลล์ หากสามารถอ่านเซลล์ได้จะสามารถป้องกันได้ ดังนั้นการตรวจจีโนม หรือรหัสพันธุกรรม จะทำให้เรารู้จักร่างกายของตัวเอง มีโอกาสป้องกันตัวเอง และเลือกใช้ยาที่เหมาะกับตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่น มะเร็ง เกิดจากเซลล์ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งเป็นการผิดปกติของสารพันธุกรรมไม่ใช่เกิดจากพันธุกรรม หากรู้จักเซลล์ที่เกิดความผิดปกติ ก็มีโอกาสในการรักษาได้อย่างตรงจุด รวมไปถึงการตรวจในระดับยีนเพื่อลดความเสี่ยงจากโรค

ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุดมีความคืบหน้าด้านเทคโนโลยีพันธุกรรม ด้วยการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม หรือจีโนมในสุกร เพื่อให้สามารถนำมาใช้ใส่ในร่างกายมนุษย์ได้เช่น ไต ห้วใจ เป็นต้น

แพลนต์เบส อาหารแห่งอนาคต ลดโลกร้อน

ต่อที่เทคโนโลยีอาหารจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ หรือ แพลนต์เบส ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกระแสรักสุขภาพ และกระแสรักษ์โลก เนื่องจากกระบวนการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ พบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แพลนต์เบส

ดร.สาครินทร์ พวงเล็ก ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT ผู้ผลิตอาหารแพลนต์เบส ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า การเปลี่ยนอาหารจากสัตว์ไปสู่พืช เป็นความหวังใหม่ของโลก

เนื่องจากอาหารจากเนื้อสัตว์ ปล่อยคาร์บอนมากกว่าอาหารจากพืช แต่จากการที่ประชากรโลกที่เป็นมังสวิรัติ เน้นทางเฉพาะพืชผัก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของประชากรโลกโดยรวมนั้น การจะทำอาหารแพลนต์เบส ให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ยังทานเนื้อสัตว์ แต่ต้องการลดปริมาณลง และหันมาทานอาหารจากพืชผักมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ การพัฒนาอาหารแพลนต์เบส ยังต้องปรับปรุงใน 3 เรื่องได้แก่

1. รูปลักษณ์และลักษณะของอาหาร เช่น การพัฒนาไฟเบอร์ให้คล้ายเนื้อสัตว์มากขึ้น

2. รสชาติ ที่ต้องใช้สารปรุงแต่งตามธรรมชาติ

3. การเติมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

แพลต์เบส

ปัจจุบัน NRPT มี 3 ธุรกิจได้แก่

1. สินค้าแพลนต์เบส เช่น ไส้กรอก เนื้อสัตว์จากพืช มีทบอล รวมทั้งอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตแพลนต์เบส มีกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปีนี้

2. ร้านอาหาร alt. Eatery ร้านจำหน่ายอาหารโปรตีนจากพืช

3. Wicked Kitchen สตาร์ทอัพเจ้าของแบรนด์แพลนต์เบส จากอังกฤษ ที่ NRPT เข้าไปร่วมลงทุน

เอไอ-หุ่นยนต์ พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่

นายชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้จัดการฝ่าย รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พูดคุยถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และระบบอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์ เข้ามาใช้ในธุรกิจแห่งอนาคต ว่า สิ่งที่ ปตท. เริ่มดำเนินการแล้วใน 4 กลุ่มคือ เฮลท์เทค อนาคตของการเดินทาง ซอฟต์ เพาเวอร์ เทค และการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0

เริ่มจาก ธุรกิจเฮลท์เทค ที่ ปตท. พัฒนาระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine) โดยวางเป้าหมายจะสร้างระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม ที่สมบูรณ์ทั้งแพลตฟอร์ม อาทิ การให้คำปรึกษา ประกันสุขภาพ การรับส่งผู้ป่วย-อาหาร-ยา อุปกรณ์ติดตาม ไปจนถึงอาหารสำหรับผู้ป่วย

ปตท. เริ่มจากการนำแพลตฟอร์มมาทดลองใช้กับพนักงานของบริษัทที่เป็นโรคเบาหวาน โดยมีระบบติดตามอาการ ให้คำแนะนำ รวมถึงจัดส่งอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะ

ชาญ1
ชาญ กุลภัทรนิรันดร์

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ ทรู พัฒนาแอปพลิเคชัน หมอดี (Mordee) หมอประจำบ้านในมือถือ ให้สามารถหาหมอออนไลน์ได้ทุกที่ พบหมอได้กว่า 20 สาขาเฉพาะทาง พร้อมรับยา และเคลมประกันได้ในแอป มานำร่องใช้ให้พนักงานได้ใช้

สำหรับกลุ่ม อนาคตของการเดินทาง (Future Mobility) จะประกอบไปด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีการเชื่อมโยงการจราจร ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังต้องเพิ่มเติมระบบต่าง ๆ อีกมาก เพื่อให้ได้อีโคซิสเต็มที่ครบวงจร

ในส่วนของ ซอฟต์ เพาเวอร์ เทค ที่ ปตท. ให้ความสนใจ จะเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมเกม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ถึง 180,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมุ่งไปที่ อี-สปอร์ด พร้อมทั้งวางเป้าหมายดึง อี-สปอร์ต อีเว้นท์ระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างอารีน่า 2 แห่งในประเทศไทย โดยจะเป็นขนาดกลางความจุ 6,000 คน และขนาดใหญ่ความจุ 14,000-15,000 คน ซึ่งจะใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย

ปิดท้ายที่การมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมสู่ อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้ โดยจะเน้นการซินเนอร์จี้บริษัทในเครือ ปตท. เพื่อจัดโครงการใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม เป็นต้น

โซลูชั่นจัดการพื้นที่สีเขียวอัจฉริยะ

อีกความสำคัญของวิชั่น ปตท. คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ เพื่อลดปริมาณคาร์บอน และไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 หนึ่งในกลไกสำคัญคือ การนำนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ได้ข้อมูล และวัดผลได้

วรุณา

นายธราณิศ ประเสริฐศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Technical of Varuna เล่าว่า วรุณา (Varuna) อยู่ในเครือบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. มีภารกิจหลักคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

จากนั้นต่อยอดไปยัง การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning การประมวลผลภาพจากโดรน ตลอดจนวิเคราะห์ระบบข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงกับค่าพิกัดภูมิศาสตร์ และแพลตฟอร์มการให้บริการในด้านต่าง ๆ

วารุณา

นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันสำหรับเกษตรกร ชื่อ คันนา (Kanna) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร เช่น การพยากรณ์สภาพอากาศ เพื่อทำนายผลผลิตทางการเกษตร การหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด เพื่อป้องกันความเสียหาย และเพิ่มประสิทธิภาพของเกษตรกร

ทั้งหมดนี้ เป็นเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond”  สร้างความแข็งแกร่งให้กับอนาคตของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo