Digital Economy

10 เทรนด์ ‘อีคอมเมิร์ซ’ 2019 จับตา ‘3 บิ๊ก’อีมาร์เก็ตเพลสแข่งเดือด

ในยุคโลกไร้พรมแดนการค้าขายเชื่อมโยงเป็นตลาดเดียวผ่านอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” เติบโตทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) หรือ etda รายงานมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ปี 2561 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ปี 2562 เติบโต 12% มูลค่าราว 3.2 ล้านล้านบาท

“อีคอมเมิร์ซ” จึงถือเป็นอีกตลาดสำคัญ ที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องปรับตัวและเรียนรู้การทำตลาด เพื่อเข้าไปช่วงชิงเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

ธนาคารกรุงเทพ จัดสัมมนาหัวข้อ  ก้าวทันก่อนใคร E-Commerce trends 2019” เพื่อช่วยต่อยอดและขยายศักยภาพธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และเป็นหนึ่งในกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

มาฟังมุมมองผู้บุกเบิกตลาดอีคอมเมิร์ซไทย  “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง  Tarad Dot Com Group และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย  ฉายภาพตลาดอีคอมเมิร์ซตั้งแต่ยุคเริ่มต้นและเทรนด์ปีนี้

ตลาดอีคอมเมิร์ซอาเซียนเริ่มต้นราวปี 2543 ซึ่งในช่วง 10 ปีแรกขยายตัวไม่มากนักในแต่ละปี แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี  2558  จากการรุกทำตลาดของ “อีมาร์เก็ตเพลส”  ทั้ง ลาซาด้า (Lazada) และ ช้อปปี้ (Shopee) ที่มีการแข่งขันทำการตลาด จัดโปรโมชั่น แคมเปญ และโฆษณา เพื่อสร้างฐานลูกค้าและกระตุ้นการจับจ่าย

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย เติบโตติดอันดับต้นๆของอาเซียนเช่นกัน ในปี 2560 พบว่าช่องทางซื้อขายหลักมาจาก โซเชียล มีเดีย 40% ,อีมาร์เก็ตเพลส  35% และช่องทางออนไลน์ของแบรนด์ 25%

IMG 20190129 145431 e1548765502341

ภาวุธ มองว่า“อีคอมเมิร์ซ เทรนด์ 2019″ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดไทยปีนี้ จะมีด้วยกัน  “10 เทรนด์” ประกอบด้วย

1.การแข่งขันของ JSL (เจดีเซ็นทรัล -ช้อปปี้-ลาซาด้า) อีมาร์เก็ตเพลสระดับโลกในไทย

2.สินค้าจีนเริ่มบุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน

3.แบรนด์จะเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น

4.ผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

5.ผู้ให้บริการ อีคอมเมิร์ซ จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยธุรกิจ

6.บริการสนับสนุน อีคอมเมิร์ซ เติบโตสูง

7.ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing)

8.การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเติบโต (Cross Border)

9.โซเชียล คอมเมิร์ซ เติบโตต่อเนื่อง

10.การตลาดรูปแบบใหม่ฉลาดมากขึ้น

IMG 20190129 135423 e1548765618495

มาไล่เรียงกันทีละเทรนด์ เริ่มจาก 1.การแข่งขันของ JSL (เจดี-ช้อปปี้-ลาซาด้า) อีมาร์เก็ตเพลสระดับโลกในไทย ปีนี้จะเห็นผู้เล่นระดับโลกในตลาดอีมาร์เก็ตเพลส ทั้ง เจดี เซ็นทรัล, ช้อปปี้ และลาซาด้า แข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งด้านโปรโมชั่น การตลาด และโฆษณา  เห็นได้ว่าปัจจุบันเกิด “สงครามพรีเซ็นเตอร์” ในตลาดอีมาร์เก็ตเพลส แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  โดยแต่ละรายใช้ พรีเซ็นเตอร์ เรียกว่าระดับท็อปของไทยและของภูมิภาค ล่าสุด  ช้อปปี้ ใช้พรีเซ็นเตอร์ Blackpink

นอกจากนี้ยังแข่งขันจัดแคมเปญกระตุ้นตลาด ดึงกำลังซื้อตลอดปี โดยมีซูเปอร์ โปรโมชั่นอย่าง 11.11 เป็นต้นแบบ  โปรโมชั่นที่ไล่เรียงกันแบบรายเดือน เช่น  2.2 , 4.4 ,5.5 , 8.8 ,10.10 , 12.12  เป็นต้น

ตลาดอีมาร์เก็ตเพลส ในหลายประเทศเหมือนกัน คือแข่งขันกันเผาเงิน ด้วยโปรโมชั่น  แบบที่ใครเงินหมดก่อนคนนั้นแพ้”

IMG 20190129 135540 e1548765713416

ปีนี้จะเห็นการแข่งขันของสงคราม “อีวอลเล็ต” หรือ กระเป๋าเงินอีเล็กทรอนิกส์ เพื่อกุมเงินในมือของผู้บริโภคและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย ปัจจุบันอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ล้วนมีอีวอลล็อตแล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้จะจูงใจด้วยการแจก Point เพื่อดึงลูกค้าให้ใช้จ่ายอยู่ในระบบ

เทรนด์ 2.สินค้าจีนเริ่มบุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน ผ่านอีมาร์เก็ตเพลส เพื่อเจาะตลาดไทย จากข้อมูลของ Priceza  ในอีมาร์เก็ตเพลสที่ทำตลาดอยู่ในประเทศไทย มีสินค้าไทยวางจำหน่ายเพียง 20%  อีก 80% เป็นสินค้าจากต่างประเทศ  และสินค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เทรนด์ที่ 3. “แบรนด์” สินค้าจะเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น  ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนได้จากข้อมูลพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในยุคนี้ ที่มี 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ  เว็บไซต์ของแบรนด์,อีมาร์เก็ตเพลส และโซเชียล มีเดีย

IMG 20190129 140530 e1548765825683

เทรนด์ที่ 4. ผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์  พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ไม่ได้แบ่งแยกช่องทางการซื้อสินค้าเหมือนเดิม แต่จะซื้อในช่องทางที่สะดวก และด้วยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มีสัดส่วนกว่า 80% ของจำนวนประชากร วันนี้สินค้าและแบรนด์จึงต้องผสานทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือกว่าจะช้อปในช่องทางใด

เทรนด์ที่ 5.ผู้ให้บริการ อีคอมเมิร์ซ จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยธุรกิจ  มาจากแนวโน้มการเติบของตลาดอีคอมเมิร์ซ  ที่มาหลากหลายแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องการเครื่องมือที่จะมาบริหารจัดการทั้งระบบอย่างครบวงจร  ธุรกิจผู้ให้บริการเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซจึงมีแนวโน้มเติบโตสูงตามไปด้วย

เทรนด์ที่ 6.บริการสนับสนุน อีคอมเมิร์ซ เติบโตก้าวกระโดด เรียกว่าเป็นการเติบโตทั้งอีโคซิสเต็ม ที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นระบบ อีเพย์เม้นต์ , โซเชียล เพย์เม้นต์ ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่พัฒนาเซอร์วิสออกมาให้บริการกันอย่างต่อเนื่อง การให้บริการด้านขนส่ง (โลจิสติกส์) ของไทยและต่างประเทศ ที่ขยายตัวเข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง  ปีนี้จะเห็นการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยการเสนอบริการส่งด่วน

IMG 20190129 141322 e1548765883572

เทรนด์ที่ 7.ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing) เป็นบริการที่จะเข้ามาเป็นตัวเลือกช่วยผู้ประกอบการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยการให้ข้อเสนอพิเศษกับผู้บริโภค เพื่อช่วยผู้ประกอบการหาลูกค้า และแบ่งผลประโยชน์กับผู้ค้าขาย เช่น เว็บไซต์ที่ให้บริการด้าน Cash Back  เริ่มเติบโต โดยจะคืนเงินให้ผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์   โดยสินค้าและแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ จะจ่ายเงินให้กับเว็บ cash back เพราะเป็นช่องทางช่วยหาลูกค้า

เทรนด์ที่ 8.การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเติบโต (Cross Border)  จากจำนวนประชากรออนไลน์ทั่วโลกำลังเติบโต และมีความต้องการสินค้าจากตลาดทั่วโลกมากขึ้น

IMG 20190129 141822 e1548765932867

เทรนด์ที่ 9.โซเชียล คอมเมิร์ซ เติบโตต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โซเชียล มีเดีย” เป็นสื่อออนไลน์ที่ผู้บริโภคใช้งานเป็นอันดับต้นๆ  เมื่อมีการใช้งานจำนวนมากจึงเกิดเป็นคอมมูนิตี้ และการค้าขายตามมา โดยกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งไทย ถือเป็นประเทศที่ใช้สื่อโซเชียล ค้าขายได้โดดเด่นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย ยักษ์ใหญ่ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ได้พัฒนาเครื่องมือ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เป็นร้านค้าออนไลน์ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็น เพซบุ๊กเพจ เฟซบุ๊กกรุ๊ป  ที่ปัจจุบันกลายเป็น “ซูเปอร์ เซ็กเม้นต์ คอมมูนิตี้” ของกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะด้าน ที่เริ่มจากคอนเทนท์  สร้างเป็นคอมมูนิตี้ และคอมเมิร์ซ (การค้าขาย) จะเกิดขึ้นตามมา

เทรนด์ที่ 10.การตลาดรูปแบบใหม่ฉลาดมากขึ้น  ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เติบโต ทำให้ 86% ของคนทั่วไปมักไม่เชื่อสิ่งที่สินค้า หรือแบรนด์พูดถึงตัวเอง แต่ 92% ของคนทั่วไปมักเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดถึงแบรนด์  ทำให้เกิดการตลาด Influencer  ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

Avatar photo