Digital Economy

ที่ 1 ของโลก! โควิด กระตุ้นคนไทยใช้ ‘พร้อมเพย์’ 1.21 แสนล้านบาทต่อวัน

ที่ 1 ของโลก โควิด กระตุ้นคนไทยใช้ ‘พร้อมเพย์’ 1.21 แสนล้านบาท 38.7 ล้านรายการต่อวัน พร้อมพัฒนาระบบรองรับ ทำธุรกรรมได้มากขึ้น

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การใช้งานโอนเงินพร้อมเพv์ ณ สิ้น มิ.ย.65 มีผู้ลงทะเบียน 70 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้น 22.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 59.3%  มูลค่ารวม 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

พร้อมเพย์

ช่วงโควิด ประชาชนนิยมโอนเงินผ่านพร้อมเพย์

โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ทำให้ประชาชนหันมาใช้จ่ายแทนเงินสดมากขึ้น ทำให้การโอนเงินพร้อมเพย์ของไทย ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด กล่าวว่า ในปี 64 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 10,000 ล้านรายการ และมีเงินหมุนเวียนผ่านระบบไอทีเอ็มเอ๊กซ์รวม 39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของจีดีพีไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 65 จากเดือนม.ค.-มิ.ย.65 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 6,000 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 23 ล้านล้านบาท

พร้อมเพย์

เพิ่มศักยภาพระบบ เพื่อรองรับการทำธุรกรรม

โดยภายในสิ้นปีนี้ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ มีแผนจะเพิ่มศักยภาพระบบ ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้สูงสุด 10,000 รายการต่อวินาที จากเดือน ก.พ. 65 อยู่ที่ 6,000 รายการต่อวินาที เพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่าจากปี 60 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดใช้ระบบพร้oมเพย์ ขณะที่จำนวนธุรกรรมสูงสุดในปัจจุบันอยู่ที่ 2,900 รายการต่อวินาที

นอกจากนี้ ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ ยังร่วมกับ ธปท.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัล สำหรับภาคธุรกิจ หรือ พร้อมบิซ สนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจ ผ่านผู้ให้บริการทางการเงินและเชื่อมต่อกับระบบภาษีของภาครัฐ แก้อุปสรรคการทำธุรกิจแบบเดิมที่ยังใช้เอกสารกระดาษ มีต้นทุนสูง มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยเหลือคนตัวเล็ก ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง

พร้อมเพย์

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับมิติของความยั่งยืน ผ่านการพัฒนาระบบการชำระเงิน ที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น บนต้นทุนที่เหมาะสม โดยระบบยังส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่อโดยอาศัยข้อมูล หรืออินฟอร์เมชั่น เบส เลนดิ้ง โดยนำข้อมูลทางเลือกมาใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อ เช่น ข้อมูลธุรกรรมการค้า

นับเป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลใหม่ ที่จะช่วยให้การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo