Digital Economy

เปิดวิสัยทัศน์โตชิบา ‘เมื่อโลกไซเบอร์หลอมรวมกับโลกกายภาพ’

ในยุคปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนถูกเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต เราได้เดินทางมาถึงจุดที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ในโลกไซเบอร์ สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจ ยุคที่โอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค และสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ ในโลกกายภาพ อาทิ สถานะการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือระดับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า

Thoshiba4
ดร.ชิโระ ไซโตะ

โตชิบามีเป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยี Cyber Physical Systems (CPS) ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคม ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีโลกไซเบอร์และโลกกายภาพ หรือโลกแห่งความเป็นจริง ในตอนที่ 2 ของการสัมภาษณ์กับ ดร.ชิโระ ไซโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี โตชิบา  เกี่ยวกับกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีของโตชิบา เราจะเจาะลึกถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่โตชิบาต้องการสร้างจนสัมฤทธิ์ผล รวมถึงความคาดหวังที่ ดร. ไซโตะ มีต่อนักวิจัยและวิศวกรของโตชิบา

เมื่อพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยี โตชิบาจะต้องเปลี่ยนความคิดด้านใดบ้าง

ในอดีตเราเคยคิดว่า เราสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเข้าสู่สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร เราก็ตระหนักว่าความคิดนั้นมันเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้อื่นในด้านวิจัยและพัฒนา

สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ติดกับดักทางความคิด ว่าต้องทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจึงสนับสนุนเรื่อง “open innovation” ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการวิจัย และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมถึงสถาบันค้นคว้าวิจัย ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ อย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีประมวลผลทางภาษา ร่วมกับ Chinese Academy of Sciences และเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลกับทาง Indian Institute of Science เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ผมขอยกตัวอย่าง เทคโนโลยีที่เรากำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ด้วยความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งก็คือการเข้ารหัสลับควอนตัม (Quantum Cryptographic Communication) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี ที่ทำให้เราสามารถส่งผ่านข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล และธุรกรรมทางการเงิน ด้วยวิธีที่จะไม่ถูกแฮ็กหรือขโมยข้อมูลได้

ปัญหาที่เราพบในการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ คือ ความรวดเร็วและระยะทาง สำหรับการส่งมอบกุญแจไขรหัสข้อมูล แต่ในจุดนี้ โตชิบาก็ได้สร้างสถิติโลก ทั้งในด้านความเร็วและระยะทาง และเรายังทำการวิจัยและพัฒนาด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อพัฒนาตัวฮาร์ดแวร์ ที่ลดการใช้พลังงานจากชิป AI ซึ่งในจุดนี้ก็มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี โดยล่าสุดเราประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลังงานถึง 88%

ในส่วนของการสร้างธุรกิจใหม่ๆ เราจะปล่อยเมล็ดพันธุ์ทางธุรกิจ ที่สร้างขึ้นผ่านการวิจัยและพัฒนาออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงแรก โดยนอกเหนือจากกลไกการเรียนรู้ ที่ได้รับจากฟีดแบ็กและข้อเสนอแนะต่างๆ เรายังได้จัดตั้งเงินกองทุนสำหรับบริษัทร่วมทุนถึง 10,000 ล้านเยน เพื่อใช้ในการสร้างธุรกิจใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่เดิม

Toshiba
เทคโนโลยีใหม่จากโตชิบา

โตชิบามีส่วนร่วมในเทคโนโลยีการรักษาที่แม่นยำทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีใดบ้างที่คุณคาดหวังไว้สูง

โตชิบามีการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมาย ทั้งด้านการป้องกัน การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยโรค และการรักษา และหนึ่งในนั้น คือเครื่องฉายลำแสงอนุภาคหนักสำหรับการรักษามะเร็ง ซึ่งจะเร่งลำแสงอนุภาคหนักจากคาร์บอน ด้วยความเร็วแสง 70% เพื่อฉายรังสีกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยเครื่องนี้ใช้เทคโนโลยีหลักๆ สองตัว คือ กล้องหมุนเพื่อฉายรังสีเซลล์มะเร็ง ซึ่งเราใช้แม่เหล็กเข้ามาช่วยลดขนาดและน้ำหนักของตัวเครื่อง การที่ตัวกล้องหมุนได้ ยังช่วยลดเวลาการรักษาคนไข้โดยไม่จำเป็นต้องพลิกตัว

อีกหนึ่งเทคโนโลยีคือ การรับรู้ภาพเพื่อหาตำแหน่งของเนื้องอก และฉายแสงตามการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย ทำให้เราสามารถกำจัดเนื้องอกได้ โดยไม่ทิ้งบาดแผลภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งเทคโนโลยีทั้งสองอันนี้ ช่วยลดความเสียหายให้กับผู้ป่วยได้มาก

นอกจากนี้ เรายังมีเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ อีก เช่น ไลโปโซมชีวภาพย่อยสลายได้ อธิบายง่ายๆ ได้ว่ามันเป็นแคปซูลขนาดจิ๋วเพียง 100-200 นาโนเมตร จึงสามารถใส่เข้าไปในเซลล์ในร่างกายมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ค้นหาเซลล์มะเร็งได้ โดยกลไกการทำงาน คือการผสมยีนทดสอบเข้าไปในแคปซูล แล้วใส่เข้าไปในเซลล์ผ่านเมมเบรน ซึ่งเมื่อตัวแคปซูลย่อยสลาย จะสามารถตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งได้ ด้วยการเรืองแสงออกมา ทำให้สามารถตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ และจะนำไปสู่การหาหนทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

คุณมีการส่งเสริมการวิจัยหลายด้าน มีแนวคิดอย่างไรกับการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในอนาคต

เราวางแผนจะใช้เงินลงทุนกว่า 9.3 แสนล้านเยน เพื่อการวิจัยและพัฒนาในช่วง 5 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน และในด้านต่างๆ ที่ผมเคยได้ระบุไปก่อนหน้านี้คือ แบตเตอรี่ SCiB อิเล็กทรอนิกส์กำลัง และวิทยาการหุ่นยนต์ ส่วนตัวเซมิคอนดักเตอร์ เราเน้นลงทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า และตัวจัดเก็บข้อมูล HDD สำหรับศูนย์ข้อมูลต่างๆ

นอกจากนี้ ในด้านของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เราจะให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนา SPINEXTM ซึ่งเป็นแม่แบบสถาปัตยกรรม IoT ที่เราจะใช้ในการปฏิรูปธุรกิจ ตัว RECAIUSTM ซึ่งเป็น AI การสื่อสารของโตชิบา และ SATLYSTM ซึ่งเป็น AI เพื่อการคิดวิเคราะห์

ยิ่งไปกว่านี้ เรายังต้องคิดถึงการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ แต่ผลิตภัณฑ์บางตัว ยังไม่ได้ดัดแปลงหรือปรับให้ได้มาตรฐาน ซึ่งผมอยากจะพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ด้วยเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของทั้งกระบวนการ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการค้นคว้าและพัฒนา

ในมุมมองขององค์กร เราต้องการโครงสร้างที่สามารถ ดึงห้องทดลองและสถาบันวิจัยในต่างประเทศของเราเข้ามาด้วย เพื่อร่วมสร้างสรรค์เทคโนโลยี ตั้งแต่การวิจัยพื้นฐานที่เป็นตัวก่อกำเนิดเมล็ดพันธุ์ทางธุรกิจ ไปจนถึงการพัฒนาค้นคว้า เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและการบำรุงรักษา

ในด้านการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์สำหรับลูกค้าแบบ B2C วิธีการที่เราเลือกใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน คือการสร้างสรรค์และบ่มเพาะไอเดียผลิตภัณฑ์จากในห้องทดลอง จนสามารถผลิตและออกวางขายสู่ตลาดได้ แต่สำหรับลูกค้า B2B เราต้องวิเคราะห์สอบถามถึงปัญหาในการทำงานที่ลูกค้าพบเจอ เพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต

Toshiba3
เทคโนโลยีจากโตชิบา

คุณคาดหวังอะไรจากบรรดานักวิจัยและวิศวกรบ้าง

ตอนที่ผมได้ไปเยี่ยมฐานการวิจัยและพัฒนาของเรา ทั้งในญี่ปุ่นและที่ต่างประเทศ ผมได้พูดคุยกับพนักงานแต่ละที่ และพบว่าหลายคนมีความสนใจ ที่จะนำเสนอไอเดียของตัวเอง เพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งเราก็พยายามหาช่องทางที่จะมาตอบสนองในจุดนี้ อย่างเช่นกองทุน CVC 10,000 ล้านเยนที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น ผมคิดว่าที่ผ่านมาเรามัวแต่กังวลเรื่องความสมบูรณ์แบบ และคุณภาพของสินค้ามากเกินไป

แน่นอนว่าเราคงไม่ยอมปล่อยสินค้าคุณภาพต่ำออกสู่ตลาด แต่เราเริ่มเรียนรู้ว่า ถ้าเราปล่อยผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพสูงประมาณหนึ่งที่เรายอมรับได้ เราก็จะสามารถนำเสียงตอบรับจากลูกค้ามาใช้ในการพัฒนาสินค้าต่อไปได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้เรายังสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอกองค์กรเข้ามาร่วมพัฒนาได้ ซึ่งผมคิดว่าการทำงานแบบนี้ก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน

เทคโนโลยีในทุกวันนี้ มีความแยกย่อยค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีเฉพาะกลุ่มมาผลิตสิ่งต่างๆ นั้นทำได้ยาก เนื่องจากหัวใจของการประดิษฐ์ คือการสร้าง 1 ขึ้นจาก 0 เราจึงต้องหาข้อเสนอและการแก้ปัญหา โดยการหลอมรวมเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงสำคัญมากที่นักวิจัยและนักเทคนิค ควรจะต้องเปิดหูเปิดตาให้กว้าง ไม่ใช่จดจ่ออยู่เพียงในโลกของตนเท่านั้น

Toshiba4
เทคโนโลยีจากโตชิบา

พื้นฐานของการวิจัยและพัฒนาของเรา คือการแก้ปัญหาทางสังคม ที่เกี่ยวข้องกับ Megatrend ทั้งหลาย ซึ่งสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ คือการเดินตามวิธีการที่ SDGs ได้วาดเอาไว้ แต่ต่อไปในอนาคต ผมอยากให้นักวิจัยและนักพัฒนาของเรา ทำงานด้วยความตระหนักรู้ว่า สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อหนทางสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม

ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าพวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ตัวเองคือผู้ที่จะสร้างสิ่งใหม่ และเป็นผู้ที่จะเปิดอนาคต ให้กับองค์กรของเรา ในฐานะองค์กร โตชิบารอคอยและคาดหวังอยู่เสมอ ว่าเราจะได้เห็นไอเดียใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมที่เรามีอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ไม่มีอะไรต้องกลัว

Avatar photo