Digital Economy

5 สไตล์ใช้โซเชียลมีเดียแบบผู้บริหาร

untitled 1

ความสามารถในการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างจุดขายให้กับตัวเองเป็นเรื่องเฉพาะตัว หลายคนอาจทำได้ดี และหลายคนก็ตระหนักได้ว่าตนเองนั้นอาจไม่ค่อยถนัดนัก สอดคล้องกับข้อมูลจากฟอร์บส์ (Forbes) ที่พบว่า ในบรรดาบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 นั้น มีซีอีโอของบริษัทเหล่านี้ถึง 61% ที่ไม่ปรากฏตัวบนโซเชียลมีเดียเลย

ขณะเดียวกันก็มีซีอีโออีกเป็นจำนวนมากที่สามารถเล่นกับโซเชียลมีเดียได้อย่างชาญฉลาด และใช้ชื่อของตัวเองสร้างโอกาสให้กับบริษัทได้อย่างงดงาม ซึ่งวันนี้เราขอยกซีอีโอคนดังที่ถือได้ว่าเล่นเป็นกับสื่อโซเชียลมีเดียมาฝากกันดังนี้

อิบราฮิม อัล-ไฮโดส

อิบราฮิม อัล-ไฮโดส (Ibrahim Al-Haidos) ผู้ก่อตั้งแบรนด์กระเป๋าหรู Fursan เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างน่าสนใจ โดยแพลตฟอร์มที่เขาใช้ คือ อินสตาแกรม (Instagram) ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 161,000 คน

ความแตกต่างของอิบราฮิมคือ เขาไม่ได้โพสต์ทุกวัน ส่วนใหญ่ที่โพสต์จะห่างกัน 3 – 4 วันต่อครั้ง และโพสต์ของเขานั้นแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับโปรดักซ์ของบริษัทเลย แต่เป็นไลฟ์สไตล์ (สุดหรู) ของเขาเองในประเทศบ้านเกิดอย่างกาตาร์ แต่ภาพเหล่านั้นกลับกลายเป็นส่วนสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าของ Fursan ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถึงแม้เขาจะไม่ได้โพสต์บนอินสตาแกรมทุกวัน แต่เขามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ติดตาม “ทุกวัน” ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าเขาใส่ใจกับคนที่เข้ามาคอมเมนท์ ทำให้ในแต่ละภาพที่โพสต์บนอินสตาแกรมนั้นมีคนเข้ามาคอมเม้นท์เป็นจำนวนมาก

อีลอน มัสก์

หากสิ่งที่อิบราฮิม อัล-ไฮโดสใช้โซเชียลมีเดียคือการนำเสนอไลฟ์สไตล์ การใช้โซเชียลมีเดียของอีลอน มัสก์ ก็คงเป็นการนำเสนอตัวตนของเขาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีอีโอหลายคนยกให้เป็นกรณีศึกษา เพราะมีสีสัน และทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่เขาเป็นซีอีโอได้รับการสนใจในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาประกาศขายหมวก “Boring hat” ได้หมดเกลี้ยงในราคา 20 ดอลล่าร์ จนระดมเงินล้านได้สำเร็จ

ความเป็นตัวตนของเขายังถูกสะท้อนออกมาผ่านทวิตเตอร์อยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาลุกขึ้นมากลางดึกเพื่อทวีตว่า AI เป็นภัยต่อมนุษยชาติ ซึ่งถูกสำนักข่าวต่าง ๆ หยิบไปเป็นพาดหัวอย่างรวดเร็ว

อีลอน มัสก์ยังใช้ทวิตเตอร์ในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน รวมถึงใช้ในการประกาศโปรเจคใหม่ ๆ ของเขาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ เขาสามารถผสมผสานคอนเทนต์ทั้งหมดเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม และกลายเป็นอีกหนึ่งแอคเคาท์บนโซเชียลมีเดียที่น่าติดตามของชาวเน็ตไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน อีลอน มัสก์มีผู้ติดตาม 20.3 ล้านคนบนทวิตเตอร์

เกรทเชน รูบิน

เกรทเชน รูบิน (Gretchen Rubin) เป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในวงการศาสตร์สร้างสุข เนื่องจากเธอเป็นเจ้าของหนังสือที่ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Happiness Project, The Four Tendencies, Better Than Before ทำให้วันนี้เธอมีฐานผู้ติดตามจำนวนมากทั้งบนโลกออนไลน์และสิ่งพิมพ์ โดยแพลตฟอร์มที่เธอใช้อย่าง LinkedIn มีผู้ติดตามมากกว่า 2.5 ล้านคน

การใช้โซเชียลมีเดียของเธอนั้นอาจเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ปล่อยของ คือเธอจะโยนไอเดียที่เธอเห็นว่าน่าสนใจลงไปในรูปของบทความ (แอคเคาท์ของเธอมีการโพสต์บทความแล้วมากกว่า 600 ชิ้น) โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์กับฮัฟฟิงตันโพสต์ว่า เมื่อเธอมีไอเดียใหม่ๆ เธอจะกระจายออกไป และฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมานั้นจะบอกเธอเองว่า ผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งถือว่าเป็นความกล้าหาญไม่น้อยที่จะเผชิญหน้ากับคำติชมต่าง ๆ

วอร์เรน บัฟเฟตต์

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอจากเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ เป็นอีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ เพราะนับตั้งแต่เขาเปิดแอคเคาท์บนทวิตเตอร์เมื่อเมษายน 2556 จนถึงวันนี้ พบว่าเขาทวีตไปแล้วทั้งสิ้น 9 ครั้งเท่านั้น

แต่น้อยกลับกลายเป็นดี เพราะทุกวันนี้ถึงเขาไม่ได้โพสต์อะไรบนทวิตเตอร์แล้วก็จริง แต่ผู้ติดตามก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 1.37 ล้านคน

รวิศ หาญอิสระ

กลับมาที่บ้านเรากันบ้าง หนึ่งในผู้บริหารที่ถือได้ว่าใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างน่าสนใจคงหนีไม่พ้น รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ ศรีจันทร์โอสถ กับเพจ Mission To The Moon ที่มีผู้ติดตามแล้วกว่า 204,000 คน

นอกจากรวิศจะใช้เพจนำเสนอแนวคิดดี ๆ มากมายแล้ว การเล่าเรื่องของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ก็ยังทำได้ดีไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสูตรของการใช้โซเชียลมีเดียในฐานะซีอีโอได้อย่างน่าติดตามเลยทีเดียว

แต่ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า บรรดาซีอีโอที่กล่าวมานั้น ไม่มีใครหมกมุ่นอยู่กับโซเชียลมีเดียนานหลายชั่วโมง เพื่อบอกให้คนหันมาซื้อโปรดักท์จากแบรนด์ของพวกเขา แต่สิ่งที่เขาทำคือเป็นการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างมูฟเมนท์ให้แบรนด์ และเพื่อให้แบรนด์ยังคงสามารถ “เชื่อมต่อ” กับผู้บริโภคได้อย่างเต็มความสามารถนั่นเอง

Avatar photo