‘ชัยวุฒิ’ เผย กม. ลูก PDPA 4 ฉบับ รวมถึง ผ่อนปรนเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน ประกาศใช้แล้ว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กฏหมายลูก 4 ฉบับ ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีผลบังคับใช้แล้ว ประกอบด้วย
- การผ่อนปรน PDPA สำหรับ เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมช
- การประกาศสร้างความชัดเจนในการจัดทำและเก็บรักษาบันทึกรายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และให้เวลาเตรียมการ 180 วัน
- การประกาศมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยขั้นต่ำให้ชัดเจนสอดคล้องกับประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้ใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ
- ประกาศ การลงโทษทางปกครอง ที่คำนึงถึงเจตนา และให้มีการไกล่เกลี่ย ตักเตือน
ผ่อนปรนเอสเอ็มอี – วิสาหกิจชุมชน มีเงื่อนไขดังนี้่
สำหรับกฎหมายลำดับรองฉบับที่ 1. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง การยกเว้นการบันทึกรายการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2565 เป็นการผ่อนปรนเอสเอ็มอี ในเรื่องการบันทึกรายการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ให้
- SME เช่น โรงงานผลิต ที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน หรือ รายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท หรือ ร้านค้าปลีกหรือบริษัท ที่มีพนักงานไม่เกิน 100 คน หรือ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท
- วิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน
- วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกลุ่มกิจการเพื่อสังคม
- สหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ 5) มูลนิธิ สมาคม องค์กรศาสนา หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และ
- กิจการในครัวเรือนหรือกิจการอื่นในลักษณะเดียวกัน
กม.ลูกอีก 3 ฉบับ
สำหรับกฎหมายลำดับรองฉบับที่ 2. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำและเก็บรักษา บันทึกรายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 เพื่อให้ ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินการตาม PDPA โดยมีการให้เวลาผู้ประกอบการ 180 วันในการเตรียมตัว
สำหรับกฎหมายลำดับรองฉบับที่ 3. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 เพื่อให้มี มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยขั้นต่ำให้ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ที่ได้ใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สร้าง
สำหรับกฎหมายลำดับรองฉบับที่ 4. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง โดยคำสั่งลงโทษตามระดับความร้ายแรงของการทำความผิด กรณีไม่ร้ายแรง ให้ตักเตือนหรือสั่งให้แก้ไข สั่งห้าม หรือสั่งจำกัดการกระทำ ได้ สำหรับกรณีร้ายแรง (ที่อาจหมายรวมถึงกรณีที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง) หรือสั่งตักเตือนไม่เป็นผล จึงให้ลงโทษทางปกครองโดยการปรับ
ทั้งนี้ ข้อยกเว้นต่างๆ และ รายละเอียดและ ตามประกาศ ทั้ง 4 ฉบับ ควรศึกษาจากประกาศฉบับเต็ม ที่เผยแพร่ในราชกิจจาแล้ว
PDPA เพื่อประโยชน์ประชาชน และเตรียมประกาศ กม. ลูก อีก 4 ฉบับ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 มีเจตจำนงชัดเจน ที่ต้องการให้ PDPA เกิดประโยชน์กับประชาชน ในขณะเดียวกัน มุ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด เน้นการให้ความรู้และตักเตือน จากการติดตาม ทราบว่า ขณะนี้ มี กม. ลูก 4 ฉบับ ที่ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้เห็นชอบ ในสัปดาห์ที่แล้ว ได้ลงราชกิจจาประกาศบังคับใช้ แล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นี้
นอกจากนี้ ยังมี กม.ลูกที่สำคัญอีก 4 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมารคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคาดว่า จะสามารถดำเนินการเรื่อง กม.ลูก รวมทั้งหมด 8 ฉบับได้ ภายในเดือน มิถุนายน นี้
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในเชิงนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรามุ่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายน้อยที่สุด สะท้อนการเริ่มบังคับใช้ในช่วงแรกของกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่ควรเป็นภาระเกินไป เน้นการให้ความรู้และตักเตือน ไม่เน้นการลงโทษ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กม.ลูก ผ่อนปรน PDPA สำหรับ เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน เริ่มใช้สัปดาห์หน้า
- ดีอีเอส ย้ำ PDPA มุ่งคุ้มครองปชช. ตำรวจต้องเก็บรักษา ข้อมูลส่วนบุคคล อย่าให้รั่วไหล
- ดีอีเอส แนะศึกษาข้อมูล PD PA จากช่องทางสื่อสารของภาครัฐ ห่วงประชาชนเข้าใจผิด