Digital Economy

เตือน!! ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ ถ่ายรูป แชร์ข้อมูลคนอื่น เสี่ยงผิดกฏหมาย PDPA

ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ ถ่ายรูป แชร์ข้อมูลคนอื่น เสี่ยงผิดกฏหมาย PDPA สื่อมวลชนได้รับการยกเว้น แต่ข่าวบันเทิงต้องระวังในการนำเสนอ

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และที่ปรึกษาเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยว่า วันนี้ (1 มิ.ย.) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ.2562) หรือ PDPA เริ่มบังคับใช้  ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อจัดระเบียบข้อมูลข่าวสาร เน้นความคุ้มครอง ปกป้องความเป็นส่วนตัว และป้องกันปัญหาอาชญากรรม เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์

PDPA

หากมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม เจ้าตัวมีสิทธิ์ ฟ้องแพ่ง อาญา หรือ ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล ดำเนินการได้

PDPA

เตือนยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ต้องระวัง ถ่ายรูป การแชร์ข้อมูล

ยกเว้น การนำข้อมูลบางอย่าง ที่กฎหมายให้อำนาจ ไม่เป็นความผิด เช่น การกระทำที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กระทบคนอื่น ข้อมูลในการอภิปรายในสภา ข้อมูลเครดิตบูโร ข้อมูลพยานหลักฐานในชั้นศาล ข้อมูลการสอบสวนสืบสวนคดีความต่าง ๆ เป็นการทำตามสัญญา เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิต หรือร่างกายของบุคคล เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ หรือสิทธิของตน ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต

รวมถึงกิจการด้านสื่อมวลชนที่มีประมวลจริยธรรมด้านสื่อมวลชนมารองรับ ก็ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นการสื่อสาร ถ่ายทอด ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว

แต่ข่าวบางประเภท เช่น ข่าวบันเทิง จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และปรับตัวในนำเสนอข่าวให้มากกว่าข่าวประเภทอื่น เพราะข่าวเทิงมักเป็นเรื่องส่วนบุคคล ชีวิตส่วนตัวของศิลปิน ดารา ฯลฯ พร้อมเตือนพวกยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีคนติดตาม กฎหมายไม่ได้ยกเว้น จึงต้องระมัดระวังการ ถ่ายรูป การแชร์ข้อมูลของบุคคลส่วนบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต

PDPA

เน้นตักเตือนเพื่อให้แก้ไข ก่อนบังคับใช้จริง

หลังการประกาศใช้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลจะเน้นทำความเข้าใจ ตักเตือนก่อนในช่วงหนึ่งปีแรก คือตั้งแต่ 1 มิ.ย 65-1 มิ.ย. 66 เน้นการว่ากล่าวตักเตือนเพื่อให้เกิดการแก้ไข จากนั้นจะเริ่มใช้บังคับอย่างจริงจัง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ประชาชนหากพบว่าถูกละเมิด สามารถร้องเรียนเข้ามาที่ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยหน่วยงานจะมีขั้นตอนการรับเรื่อง ไกล่เกลี่ย ตักเตือน แก้ไข ขั้นหนักสุดคือการปรับ ซึ่งจะเป็นมาตรการสุดท้าย โดยมีความร้ายแรงและกระทบกับสังคมหมู่มาก เน้นปรับขั้นต่ำ

ทั้งนี้ จะมีตัวแทนจากภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาช่วยพิจารณาแนวทางการปฎิบัติ การพิจารณา ลงโทษ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  ซึ่งเงินค่าปรับจะตกเป็นของหลวงเท่านั้น ยกเว้นผู้เสียหายนำผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ไปยื่นประกอบการฟ้องร้องทางแพ่งและฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo