Digital Economy

เปิด LINE JOBS ใช้ A.I. จับคู่งาน-คน ตั้งเป้า1 ปีโต 10 เท่า

LINE JOBS

เทรนด์โลกเปลี่ยน ถึงยุคใช้โซเชียลมีเดียรับคนทำงานแทนเว็บไซต์ ด้าน “LINE” สบโอกาสดึงจุดเด่นด้านผู้ใช้งาน 42 ล้านคนทั่วไทย เปิดตัวบริการจัดหางานในชื่อ LINE JOBS หวังตอบโจทย์องค์กร เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัปที่เผชิญปัญหาในการหาคนเข้าทำงานมากขึ้นในยุค Disruption พร้อมเปิดใช้งาน 1 พฤษภาคมนี้

โดย LINE ประเทศไทย ได้อ้างถึงผลการสำรวจของ Forbes 2017 ที่พบว่าตลาดแรงงานทั่วโลกนั้นมีมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลล่าร์ ทว่าในการใช้งานจริง LINE ระบุว่ามีความไร้ประสิทธิภาพแอบแฝงอยู่ตามช่องทางเดิม ๆ เหล่านี้ไม่น้อย ตั้งแต่ฐานข้อมูลที่ไม่อัปเดต ความไม่สะดวกในการใช้งานที่ผู้หางานต้องกรอกข้อมูลจำนวนมาก ราคาค่าบริการในการโพสต์ตำแหน่งงานที่สูง และการไม่ตอบโจทย์การหางานแบบเจาะจงพื้นที่ อีกทั้งฐานข้อมูลผู้หางานเฉลี่ยผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้นมีไม่เกิน 2 ล้านคน ขณะที่ LINE เองมีฐานผู้ใช้งาน 42 ล้านคน และเป็นผู้ใช้งานมีความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มของ LINE เป็นอย่างดี จึงมองว่า การเปิดตัวบริการใหม่ LINE JOBS น่าจะเป็นโอกาสของ LINE ในการรุกธุรกิจดังกล่าว

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เผยว่า จากที่เราได้คุยกับพาร์ทเนอร์ของเราพบว่า งานด้านบริการเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูงมาก และสถิติการเทิร์นโอเวอร์ก็สูงมากเช่นกัน ตั้งแต่ 29 – 300% หรือเท่ากับในปีหนึ่ง ๆ องค์กรต้องหาคนใหม่สามรอบ และคนเหล่านี้แม้จะได้งานแล้วก็ยังจะหางานใหม่อยู่เรื่อย ๆ เราจึงมองว่า LINE JOBS จะตอบโจทย์ได้

LINE JOBS
คุณอริยะ พนมยงค์

สำหรับ LINE JOBS เปิดทดสอบระบบมาแล้วประมาณ 4 เดือน โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วมากกว่า 500,000 คน มีการสมัครงานเกิดขึ้นมากกว่า 100,000 ครั้ง และมีการติดต่อผู้สมัครงานผ่าน LINE JOBS เพื่อสัมภาษณ์แล้วกว่า 10,000 คนทั่วประเทศไทย และมีบริษัททั้ง สตาร์ทอัป บริษัทขนาดกลาง และองค์กรขนาดใหญ่เข้าใช้งานแล้วมากกว่า 50 ราย เช่น MK Restaurant, เอสแอนด์พี, อาฟเตอร์ยู, สตาร์บัคส์, บาบีคิวพลาซ่า, เซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนสโตร์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, Skootar เป็นต้น

ด้านนายพีรพล สง่าเมือง หัวหน้าฝ่ายบริการใหม่ LINE ประเทศไทยเผยว่า ตั้งเป้าการเติบโตของบริการ LINE JOBS ในปีแรกเอาไว้ที่ 10 เท่าตัว นั่นคือคาดว่าจะมีผู้ติดตาม LINE JOBS เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคน มีการสมัครงานเกิดขึ้นกว่า 1 ล้านครั้ง โดยผู้ที่เข้าใช้ LINE JOBS ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะคนไทย หากเป็นชาวต่างชาติเช่น เมียนมาร์ ลาว หรือกัมพูชาที่สามารถอ่านภาษาไทยออกได้ก็สามารถใช้บริการได้เช่นกัน

LINE JOBS
คุณพีรพล สง่าเมือง

สำหรับ LINE JOBS ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่พัฒนาโดยทีมงานในประเทศไทยอย่าง Scout Out และมีการใช้งานเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยอีกหนึ่งจุดเด่นของ LINE JOBS คือการโพสต์งานได้แบบเจาะจงบนตัวแปรต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ทักษะหรือประสบการณ์ และสายงานที่สนใจ รวมถึงมีการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ในการจับคู่เงื่อนไขของผู้สมัครงานเข้ากับตำแหน่งงานที่เปิดรับอยู่ และเมื่อได้ผู้สมัครที่ต้องการแล้ว นายจ้างยังสามารถติดต่อผู้สมัครผ่าน LINE ได้โดยตรงอีกด้วย

แนวทางของ LINE JOBS สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่พบว่ามีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นแพลตฟอร์มในการประกาศรับสมัครงานมากขึ้นเพื่อให้ได้ผู้สมัครงานที่ตรงกับความต้องการ โดยจากการสำรวจผู้บริหารในสายงานการตลาดและโฆษณา ของ The Creative Group พบว่า 94% ยอมรับว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการรับสมัครงานมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ลิงค์อิน (LinkedIn) และพินเทอเรสต์ (Pinterest)

LINE JOBS

โดยการสำรวจพบว่า ช่องทางโซเชียลมีเดียนั้น นอกจากจะใช้ประกาศรับสมัครงานแล้วยังสามารถโปรโมตองค์กรไปด้วยในตัว แต่ความท้าทายของการใช้โซเชียลมีเดียในการรับสมัครงานก็คือ แต่ละแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการใช้งานโซเชียลมีเดียต้องรู้จักผู้ใช้งานในแต่ละแพลตฟอร์มให้ดีเสียก่อน เช่น จะโพสต์รับสมัครงานวัยรุ่นไม่ควรโพสต์ในเฟซบุ๊ก แต่ควรไปโพสต์ในทวิตเตอร์ หรือสแนปแชท เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า การประกาศรับสมัครงานผ่านโซเชียลมีเดียนั้นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นเช่นกัน เช่น การโพสต์โดยจำกัดการเข้าถึง ทำให้หลาย ๆ คนไม่ได้รับทราบข้อมูลของการสมัครงานดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจสนใจและมีคุณสมบัติตรงกับงานที่ประกาศไว้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ FierceCEO

Avatar photo