Digital Economy

‘จีเอสเค’ ผนึกศักยภาพกลุ่มทรู ผุดคลินิกออนไลน์ ‘Telehealth Together’ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ทุกที่ ทุกเวลา

‘จีเอสเค’ ผนึกกำลังกลุ่มทรู เปิดโครงการ “Telehealth Together” ผสานศักยภาพผู้นำยาและดิจิทัล ยกระดับบริการทางการแพทย์ ด้วยแพลตฟอร์มปรึกษาแพทย์ทางไกล ประเดิมช่วยเหลือผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ก่อนต่อยอดสู่ผู้ป่วยกลุ่มโรคอื่น ๆ ในอนาคต

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 3 ล้านคน แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่สถานพยาบาล ด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและความเสี่ยงในการติดเชื้อ

จีเอสเค

ทั้งนี้ เห็นได้จากจำนวนการใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเกิดปัญหาการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยและการติดตามการรักษาทำได้ยากมากขึ้น อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยที่จะมีอาการรุนแรงขึ้นได้ จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการ

ดังนั้น เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ ที่เน้นส่งเสริมการดูแลรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี มีเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และมีคนไข้ในเครือข่ายรวมกว่า 600,000 คน จึงร่วมมือกับจีเอสเคและกลุ่มทรู ในโครงการ Telehealth Together คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี

สำหรับโครงการดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นการยกระดับบริการสาธารณสุขเพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ เป็นประโยชน์แบบองค์รวมต่อผู้ป่วยและสังคม

Telehealth Together 1

ด้านนายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค กล่าวว่า ในฐานะผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม จีเอสเคมีเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามนโยบาย สุขภาพดีเข้าถึงได้

การริเริ่มโครงการ Telehealth Together คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี โดยร่วมมือกับ เครือข่ายคลินิกโรคหืดฯ และ กลุ่มทรู นำเทคโนโลยี Telemedicine แพทย์ทางไกล ผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ทรู เฮลท์ เข้ามาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการคำปรึกษาในการรักษาอาการป่วย สามารถพบแพทย์และใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของโครงการฯ

Telehealth Together 2

ในส่วนของ จีเอสเค จะให้การสนับสนุน ด้านข้อมูลทางการแพทย์ (Scientific Information) และนวัตกรรมทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนร่วมสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์โดยรวม

การดำเนินโครงการดังกล่าว ในเบื้องต้นจะนำร่องใช้กับโรงพยาบาล 15 แห่งที่มีความพร้อม และคาดว่าจะสามารถขยายเพิ่มมากกว่า 100 แห่งในปี 2565 และมากกว่า 500 แห่งในปีถัดไป

ด้านนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในโครงการนี้ กลุ่มทรู ได้นำเทคโนโลยีสื่อสารครบวงจรและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผสานกับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ต่อยอดฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ทรู เฮลท์ เพื่อร่วมดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ให้สามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ง่าย ทุกที่ทุกเวลาด้วยระบบออนไลน์

Telehealth Together 3

การให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ และยังคงได้รับบริการเหมือนกับที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทาง ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่าง ๆ

สำหรับการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถนัดหมายและปรึกษาแพทย์ประจำตัวในแผนก EACC Clinic บนแอปพลิเคชัน True HEALTH เพื่อพูดคุยกับแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งการโทร แชต และวิดีโอ คอลล์ (VDO Call) เพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับแพทย์ สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้ตามเวลานัดหมาย โดยสามารถดูประวัติการรักษา ให้คำปรึกษาและบันทึกประวัติการรักษาผ่านแพลตฟอร์มได้ทันที

Telehealth Together 4

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านผู้นำอุตสาหกรรมยา มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานแก่ทีมแพทย์ให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติ

นายวิริยะ กล่าวเสริมว่า ภาวะวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ยังถือเป็น ตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเร็วขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านสาธารณสุข โดยในระยะยาว มีแผนจะต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์ม ให้เข้าถึงได้ในวงกว้าง รวมถึงการขยายขอบเขตการให้บริการไปยังโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะโรคที่ต้องรักษาในระยะยาว เพื่อ สร้างนิวนอร์มอลใหม่ ในการรักษาพยาบาล ด้วยระบบแพทย์ทางไกล ทั้งการรักษาและการป้องกัน

ขณะเดียวกัน ยังมองเห็น เทรนด์ของการรักษาระยะไกล หรือเทเล เมดิซีน ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง และมีการใช้งานมากขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบัน การรักษาทางไกลในประเทศไทย ยังมีสัดส่วนเพียง 5% จากระบบการรักษาพยาบาลทั้งหมด ขณะที่ในต่างประเทศมีสัดส่วนสูงถึง 30-40% ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แวร์เอเบิล เทคโนโลยีไอโอที จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้งานมากขึ้นและเร็วขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo