Digital Economy

‘Sea Insights’ ชี้ ‘ดิจิทัล’ กุญแจฟื้นเศรษฐกิจไทย ‘รัฐ-เอกชน’ ต้องร่วมมือ หนุนใช้เทคโนโลยี

เปิดรายงานสำรวจ “คนรุ่นดิจิทัล” มองประเทศไทย หลัง “วิกฤติโควิด-19” ชี้ “ดิจิทัล” คือ กุญแจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสร้างวงจรบวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับโลกออนไลน์  พบ คนที่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานี้ จะเป็นคนที่ใช้ทักษะดิจิทัลได้ และมีความยืดหยุ่น ขณะ “ภาคขนส่ง” เกิดการจ้างงานมากสุด สะท้อนการเติบโต “อีคอมเมิร์ซ” 

ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist ของ ซี (Sea) บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการให้บริการแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้บริโภค เปิดเผยว่า Sea Insights หน่วยงานที่รับผิดชอบการวิจัยด้านนโยบายสาธารณะภายใต้ Sea (Group) และ World Economic Forum (WEF) ได้ดำเนินการสำรวจกลุ่ม “คนรุ่นดิจิทัล” (Digital Generation) อายุระหว่าง 16-60 ปี จำนวน 80,000 คน จาก 6 ประเทศอาเซียน โดยข้อมูลที่นำเสนอในครั้งนี้ จะเน้นโฟกัสไปที่กลุ่มคนไทยโดยเฉพาะ

shutterstock 1084540781

งานวิจัยในครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อจับชีพจรคนไทย และหาอินไซท์ใหม่ ๆ ให้ทันต่อพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการใช้ข้อมูลในการกำหนดกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ที่จะพาเศรษฐกิจ และสังคมเดินหน้าไปสู่อนาคต

การสำรวจพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digitalisation) ของคนไทย ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และขยายฐานกว้าง จนไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพราะแม้แต่คนที่ไม่ได้เกิดมาในยุคออนไลน์ ก็หันมาใช้บริการดิจิทัลอย่างแพร่หลายเช่นกัน คำว่า “คนรุ่นดิจิทัล” จึงควรถูกขยายคำจำกัดความให้กว้างกว่าเดิม

รายงาน “ฉายภาพอนาคตประเทศไทย หลังวิกฤติโควิด-19” มาจากการเก็บข้อมูลจากคนไทย 12,800 คน และในจำนวนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (MSME) ประมาณ 2,000 ราย ซึ่งการสำรวจพบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เห็นชัดเจน คือ รายได้ และ เงินออม โดยกว่า 70% มีรายได้หดตัวลง และ 40% บอกว่าลดตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่ม MSME

119217377 814081639360737 4017680580161964000 n
ดร.สันติธาร เสถียรไทย

กลุ่มร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักสุด คิดเป็น 78% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ได้รับผลกระทบ และ MSME ได้รับผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องความเครียด

ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจ และน่านำไปขยายผลต่อ คือ การที่ “ผู้หญิง” กลายมาเป็น กลุ่มเปราะบาง ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจมากกว่า และมีความเครียดมากกว่ากลุ่มผู้ชาย

ข้อมูลจากต่างประเทศก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากผู้หญิงในหลายสังคมยังมีบทบาทดูแลเด็ก พ่อแม่ และทำงานไปพร้อมกัน ยิ่งช่วง Work from Home ยิ่งเพิ่มความเครียด

ด้านความสามารถในการปรับตัว พบว่า 46% พบอาชีพหรือโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ลุ่มที่ปรับตัว และสร้างโอกาสได้ดีในช่วงนี้กลับเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มเปราะบาง นั่นก็คือ ผู้หญิง แม่บ้าน และผู้ประกอบการ MSME

การสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ MSME กว่า 50% เริ่มต้นธุรกิจใหม่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 และ 25% ของผู้ประกอบการสร้างงานใหม่ ๆ สู่ตลาดแรงงาน ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้นในบางภาคส่วน ข้อสังเกตของคนที่ประสบความสำเร็จในช่วงวิกฤติ จะเป็นคนที่ใช้ทักษะดิจิทัลได้ และมีความยืดหยุ่น

d444

d5

ภาคส่วนที่มีสัดส่วนการจ้างแรงงานใหม่สูงสุด ได้แก่ ภาคขนส่ง 29% ภาคเกษตร 26% และ ภาคเทคโนโลยีและโทรคมนาคม 23% ในทางกลับกัน ภาคส่วนที่มีการเลิกจ้างแรงงานสูงสุด ได้แก่ ภาคธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยว 24% และภาคการผลิต 16%

สังเกตได้ว่าสัดส่วนการจ้างงาน ที่เติบโต และค้นพบงานใหม่มากที่สุดคือ ภาคขนส่ง สะท้อนการเจริญเติบโตกับอีคอมเมิร์ช เมื่ออีคอมเมิร์ชโตก้าวกระโดด ภาคขนส่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์

รายงานยังแสดงให้เห็นว่า คนไทยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเงินดิจิทัล มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยคนไทย 65% ใช้ E-Payment ในขณะที่ MSME 76% ต้องการใช้การเงินดิจิทัลในการทำธุรกิจ

ส่วนเรื่องความต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกรรม และเข้าถึงเงินทุนในอนาคตนั้น พบว่า  ราว 53% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น และ 66% ของ MSEM ก็ต้องการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และแหล่งเงินทุนที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น มองหาความสะดวกในทุกด้าน ไม่ต้องไปสาขา หรือขอเอกสารทางการเงินต่าง ๆ ผ่านดิจิทัลได้เลย

d1

นอกจากนี้ คนไทยยังต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังมีอุปสรรค ที่ทำให้การเข้าถึงบริการต่าง ๆ เป็นเรื่องยาก โดยงานวิจัยครั้งนี้พบว่า อุปสรรคมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ใช้งาน

3 อุปสรรคใหญ่ของคนเริ่มใช้ดิจิทัล

  • ใช้ไม่เป็น ไม่คุ้นเคย (48%)
  • สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี (41%)
  • อุปกรณ์แพง หรือขาดอุปกรณ์ (38%)

d3 e1633280974519

3 ปัญหาใหญ่สุดของคนที่ใช้เทคโนโลยี หรือบริการดิจิทัลเป็นประจำ 

  • เครื่องมือคุณภาพต่ำ (35%)
  • สัญญาณคุณภาพไม่ดีพอสำหรับคนที่ต้องใช้งานเป็นประจำ (34%)
  • ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ (33%)

รายงานยังชี้ว่า กลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาก ยิ่งต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นถึง 79% ในขณะที่กลุ่มคนที่ใช้งานดิจิทัลน้อย กลับไม่ต้องการใช้งานเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบเหมือนกับ Digitalisation Flywheel Effects (ดุมล้อแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) พอใช้เยอะถึงจุดหนึ่ง เมื่อเกิดโมเมนตัมของดุมล้อนี้แล้ว จะยิ่งอยากใช้ไปเรื่อย ๆ ยิ่งใช้ยิ่งเห็นประโยชน์ ยิ่งอยากลองมากขึ้น

ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ใช้งานใหม่อาจเจอประสบการณ์ไม่ดีก็เลิกใช้ ดังนั้นหากต้องการผลักดันให้คนเข้าถึงดิจิทัลมากขึ้น ต้องหมุนวงล้อนี้ให้นานพอ จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้  วิกฤติโควิด จุดประกายให้เกิดการถ่ายทอดทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 31-50 ปี มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สอน อาจเรียกคนกลุ่มที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดว่า “ทูตดิจิทัล” (Digital Ambassador) เป็นไปได้ว่า ความต่างของวัยที่ไม่ห่างกันนัก ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และมีความเข้าใจโลกยุคอะนาล็อก และโลกดิจิทัล ทำให้การอธิบายเข้าใจง่ายและสื่อสารกันง่ายกว่า

d2

ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็น ในมุมมอง Digital Generation

  • การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล (36%)
  • ความสามารถในการปรับตัว และฟื้นตัว (34%)
  • การสร้างวินัยให้กับตัวเอง (32%)

ส่วนทักษะด้านภาษา และทักษะความเชื่อมโยงกับโลก (Global Mindset) เป็น 2 ทักษะที่คนไทยให้ความสำคัญมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่ว่าประเทศไทยควรเชื่อมโยงกับโลกให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กลับไม่มั่นใจว่า ตัวเองมีความพร้อมในแต่ละทักษะ ที่ระบุว่ามีความสำคัญ โดยให้คะแนนความเชี่ยวชาญต่ำกว่า 50% เกือบจะทุกด้าน หากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ทักษะด้านภาษา เป็นทักษะที่คนไทยมั่นใจน้อยที่สุด

Digital Generation ยังมองการใช้ เทคโนโลยี เป็นโอกาสที่สำคัญที่สุดในอนาคต อันดับ 2 คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข และสุดท้ายคือเรื่องของสุขภาพจิต โดยคนไทยอยากเห็น “Caring Society” สังคมที่มีการช่วยเหลือต่อกันมากขึ้น

S 15032377 e1633280695866

อ่านฉบับเต็ม รายงานผลสำรวจคนไทยยุคดิจิทัลฉายภาพอนาคตประเทศไทย หลังวิกฤติโควิด-19

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo