Digital Economy

จะเป็นอย่างไร ถ้าผลวิจัยชี้เด็กไทยส่วนใหญ่อยากโตไปเป็น ‘ผู้ประกอบการ’

มีผลการสำรวจที่น่าสนใจของ World Economic Forum ร่วมกับ SEA เกี่ยวกับแนวคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่พบว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจจะเป็นผู้ประกอบการสูงมาก โดยในประเทศไทย เยาวชนคนรุ่นใหม่ถึง 36% บอกว่าพวกเขาอยากเป็นผู้ประกอบการแทนที่จะเข้าทำงานในบริษัทต่าง ๆ และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์ 20%, เวียดนาม 25%, ฟิลิปปินส์ 19%, มาเลเซีย 26% และอินโดนีเซีย 24%)

03
ภาพจากเอเอฟพี

นอกจากนั้น งานวิจัยยังพบว่าแรงจูงใจของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับงานนั้น รายได้สำคัญก็จริง แต่งานนั้น ๆ ก็ต้องทำให้พวกเขามีชีวิตที่สมดุลด้วย ไม่ใช่การทำงานหนักจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพและครอบครัว ส่วนประเด็นเรื่องการตอบแทนสังคมนั้น งานวิจัยนี้บอกว่า เยาวชนไทยขอยกไว้เป็นเรื่องท้ายสุดของแบบสอบถาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากไม่สามารถทำงานที่สร้างรายได้พอเลี้ยงตัวได้แล้ว อาจนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้

หากมองในแง่ของระดับการศึกษา ผลการสำรวจชิ้นนี้พบว่า กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีมีความใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของกิจการถึง 42% อยากทำงานภาครัฐ 17% อยากทำงานด้าน Social Enterprise 2% อยากทำธุรกิจครอบครัว 17% อยากทำเอสเอ็มอี 8% อยากทำสตาร์ทอัพ 2% อยากทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ 4% และอยากทำบริษัทข้ามชาติ 7%

ขณะที่กลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยากเป็นนายตัวเองลดลง เหลือแค่ 25% ส่วนความสนใจสมัครทำงานในหน่วยงานภาครัฐนั้นสูงขึ้นมาเป็น 27%

สิ่งหนึ่งที่ตัวเลขสะท้อนออกมาก็คือ สำหรับธุรกิจ การหาคนเก่ง ๆ เข้ามาช่วยสร้างการเติบโตอาจทำได้ยากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าจะเป็นลูกจ้างผู้อื่น

ตัวเลขชวนอึ้ง

01
ผลการสำรวจในหัวข้อ Youth & Entrepreneurship in Thailand
  • – ผลสำรวจนี้พบว่า คนรุ่นใหม่ 42% ต้องการมีรายได้ที่มั่นคง สม่ำเสมอ แต่หารู้ไม่ว่า อาชีพผู้ประกอบการเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่มั่นคงมากที่สุดอาชีพหนึ่งของโลก
  • – การทำงานเพื่อภาคสังคมได้รับความสนใจจากคนไทยน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนเพียง 2% ของผู้ตอบแบบสอบถาม และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซียอยู่ที่ 10% มาเลเซียเวียดนาม และสิงคโปร์ อยู่ที่ 5% ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 4%
  • – คนไทยยิ่งเรียนมาก ยิ่งกังวลมากว่าจะถูกเทคโนโลยีแย่งงาน ในจุดนี้ อธิบายได้ว่า เป็นการมองจากตำแหน่งงาน เช่น เจ้าของกิจการมักจะมองเทคโนโลยีเป็นโอกาส ส่วนพนักงานจะมองเทคโนโลยีเป็นความเสี่ยง (ว่าจะตกงาน)
  • – กลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมองการศึกษาออนไลน์ว่ามีความสำคัญมากกว่าคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
02
ผลการสำรวจในหัวข้อ Youth & Entrepreneurship in Thailand

เทคโนโลยีคือตัวช่วย

ในจุดนี้ ผลการวิจัยบอกว่า เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยเสริมได้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น หากปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ทำงานอยู่ในธุรกิจเอสเอ็มหรือสตาร์ทอัพ และอยากออกมาเป็นผู้ประกอบการเอง ก็ไม่ต้องลาออกจากงานก็ได้ เนื่องจากมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ทดลองไปขายของก่อน หากไม่สำเร็จ ก็ยังมีงานประจำทำอยู่ ไม่ต้องไปหางานใหม่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่งานวิจัยพบด้วยก็คือนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยราว 50% ขาดทักษะการใช้งานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งกุญแจสำคัญของการเติบโตในกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่ไม่สามารถหยุดได้อีกแล้วตลอดชีวิต 

Avatar photo